กระทรวงสาธารณสุข ได้แพทย์จบใหม่เข้าทำงานในโรงพยาบาลทั่วประเทศในวันที่ 1 เมษายน 2550 อีก1,290 คน ในขณะที่ภาพรวมทั่วประเทศยังต้องการแพทย์อีกนับหมื่นคน เร่งเดินหน้าโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ 12 สถาบัน จากการติดตามผลแพทย์ที่จบจากโครงการนี้ กว่า 95 เปอร์เซ็นต์ใช้ทุนครบสัญญา และอีกกว่า 1 ใน 4 ยังปักหลักทำงานที่เดิม บ่ายวันนี้( 5 มีนาคม 2550 ) ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทระหว่างกระทรวงสาธารณสุข โดยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกับคณะ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 2 ระหว่างพ.ศ. 2550-2556 และเป็นโครงการต่อเนื่องหลังจากที่มีความร่วมมือระยะที่ 1 ระหว่างพ.ศ. 2540-2549 ที่รับนักศึกษาเข้าเรียนแล้ว 267 คน เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2549 ตามโครงการความร่วมมือครั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะผลิตแพทย์ให้กระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด 560 คน เป็นเวลา 7 ปี ปีละ 80 คน โดยรับเด็กนักเรียนมัธยมปลายจากพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่มีผลการเรียนดี เกรดเฉลี่ย 2.75 ขึ้นไป เข้าเรียนเป็นเวลา 6 ปี โดยในชั้นปี 1 – 3 จะเรียนภาคทฤษฎีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และฝึกภาคปฏิบัติในชั้นคลินิกปีที่ 4 – 6 ที่โรงพยาบาลศูนย์ลำปาง และโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์รวมทั้งโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัด ตามหลักสูตรมาตรฐานของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้งบผลิต 300,000 บาทต่อคนต่อปี เมื่อสำเร็จการศึกษาและจะต้องกลับไปทำงานในโรงพยาบาลชุมชนในภาคเหนือตามภูมิลำเนาที่รับทุน เป็นเวลา 3 ปี นายแพทย์มงคลกล่าวว่า จำนวนแพทย์ที่มีในประเทศไทยขณะนี้ประมาณร้อยละ 50 ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข ลาออกจากราชการปีละประมาณ 500 คน ขณะนี้มีแพทย์ทั้งหมด 9,375 คน เฉลี่ยแพทย์ 1 คน ดูแลประชากร 3,182 คน ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานที่ต้องการคือ 1 ต่อ 1,500 คน และเมื่อเทียบกับประเทศแถบเอเชียด้วยกันเช่นญี่ปุ่น แพทย์ไทยมีภาระสูงกว่าถึง 7 เท่าตัว สูงกว่าสิงคโปร์ 3 เท่าตัว และสูงกว่ามาเลเซียกว่า 2 เท่าตัว อัตราส่วนของแพทย์ในภาคเหนือ เฉลี่ย 1 คนต่อประชากร 3,724 คน ส่วนใหญ่จะขาดในโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดใหญ่ๆเช่นเชียงราย ขาด 89 คน กำแพงเพชรขาด 25 คน จึงต้องเร่งผลิตเพื่อเติมเต็มในระบบให้ได้ตามมาตรฐาน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ จัดทำโครงการผลิตแพทย์เพิ่มอีก 10,678 คน ในเวลา 10 ปี เริ่มตั้งแต่พ.ศ. 2547- 2556 ใน 2 โครงการได้แก่ผลิตเพิ่มจากระบบปกติจำนวน 6,871 คน และโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท 3,807 คน ในสถาบันผลิตแพทย์ 12 แห่ง ใช้หลักสูตรการเรียนการสอนเหมือนกัน โดยฝึกภาคปฏิบัติในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข 22 แห่ง เมื่อจบแล้วจะบรรจุเป็นข้าราชการทันที นายแพทย์มงคลกล่าว ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ผู้ที่เข้าศึกษาในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนชนบท เป็นหญิงมากกว่าชายในอัตรา 55 : 45 ขณะนี้มีแพทย์ในโครงการฯสำเร็จการศึกษาไปแล้ว 1,095 คน ในปีนี้มีแพทย์สำเร็จจากโครงการนี้ 263 คน และจากการผลิตระบบปกติอีก 1,000 กว่าคน โดยจะเข้าทำงานในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศในวันที่ 1 เมษายนนี้ จำนวน 1,290 คน ซึ่งจะคลี่คลาย ผ่อนเบาภาระของแพทย์ที่มีอยู่แล้วลงได้ จากการติดตามประเมินผลแพทย์ที่จบจากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท พบว่าได้ผลดีมาก มีอัตราการลาออกต่ำมาก โดยแพทย์กว่าร้อยละ 95 ทำงานชดใช้ทุนในโรงพยาบาลชุมชนต่างๆทั่วประเทศครบตามสัญญา 3 ปี และมากกว่าร้อยละ 25 หรือกว่า 1 ใน 4 ยังทำงานต่อไปเรื่อยๆในโรงพยาบาลชุมชน เนื่องจากเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่นั้น ทั้งนี้หลักเกณฑ์การกระจายแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขขณะนี้ จะยึดตามจำนวนประชากรในพื้นที่เป็นหลัก แพทย์ที่จบใหม่ต้องทำงานชดใช้ทุนเป็นเวลา 3 ปี นายแพทย์ปราชญ์กล่าว มีนาคม1/3-4 ******************************* 5 มีนาคม 2550


   
   


View 8       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ