ปอดบวม ตาแดง ผู้ใหญ่ไม่ควรเล่นนานเกิน 4 ชั่วโมง เด็กไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง
วันนี้ (14 เมษายน 2554) ที่ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2554 นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รองประธานกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน คนที่ 2 ประธานแถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2554 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2554 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 13 เมษายน 2554 ซึ่งเป็นวันที่สามของการรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย สวมหมวกนิรภัย 100%”เกิดอุบัติเหตุ 733 ครั้ง เทียบกับวันเดียวกันของปี 2553 ลดลง 137 ครั้งคิดเป็นร้อยละ 15.75 พบผู้เสียชีวิต 57 คนซึ่งลดลงจากปี 2553 จำนวน 12 คน คิดเป็นร้อยละ 17.39 ผู้บาดเจ็บ 784 คน ลดลงจากปี 2553 จำนวน 145 คน คิดเป็นร้อยละ 15.61
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 45.16 พฤติกรรมเสี่ยงของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเกิดจากการไม่สวมหมวกนิรภัยมากที่สุด ร้อยละ 32.70 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.72 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 57.16 บนถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 33.15 ทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 32.06 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 40 ครั้ง รองลงมา ได้แก่ มหาสารคาม 27 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น จังหวัดละ 4 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 42 คน รองลงมา ได้แก่ เชียงราย 31 คน
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมตั้งแต่วันที่ 11 – 13 เมษายน 2554 เกิดอุบัติเหตุรวม 1,626 ครั้ง ลดลงจากปี 2553 จำนวน 368 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 18.46 มีผู้เสียชีวิตรวม 116 คน ลดลงจากปี 2553 จำนวน 50 คน คิดเป็นร้อยละ 30.12 ผู้บาดเจ็บรวม 1,760 คน ลดลงจากปี 2553 จำนวน 389 คน คิดเป็นร้อยละ 18.10 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสูด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 78 ครั้ง รองลงมา เชียงราย 77 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 7 คน รองลงมา เชียงใหม่ 6 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 85 คน รองลงมา นครศรีธรรมราช 82 คน
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อไปว่าสถิติอุบัติเหตุทางถนนของวันที่ 13 เมษายน 2554 มีสถิติการเสียชีวิตสูงกว่าช่วง 2 วันที่ผ่านมา และจากสถิติของปีที่ผ่านมา พบการเสียชีวิตสูงในช่วงวันที่ 13 – 14 เมษายน 2554 ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการขับขี่รถจักรยานยนต์เล่นน้ำโดยไม่สวมหมวกนิรภัย ประกอบกับมีการเมาสุราและขับรถเร็วเป็นปัจจัยเสี่ยง โดยส่วนใหญ่ผู้ประสบอุบัติเหตุเป็นเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ประมาณร้อยละ 30
ดังนั้น ในวันนี้ได้มีข้อสั่งการ 6 เรื่อง ได้แก่ 1.ให้จังหวัดและและกองบัญชาการตำรวจนครบาลกำชับเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจเข้มงวดตรวจจับดำเนินคดีเมาแล้วขับ และไม่สวมหมวกนิรภัยอย่างเคร่งครัด 2.ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่สรรพสามิตกวดขันการปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเรื่องสถานที่ห้ามจำหน่าย ห้ามดื่ม รวมถึงการห้ามจำหน่ายแก่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี 3.ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครประจำจุดตรวจตักเตือนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากมีอาการมึนเมาให้หยุดผักผ่อนจนกว่าจะสร่างเมา กรณีเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ให้ประสานผู้ปกครองรับตัวไปพักผ่อนที่บ้าน
4. ประชาสัมพันธ์เบอร์สายด่วนกู้ชีพ 1669 หากเกิดอุบัติเหตุสามารถแจ้งเหตุและติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์กู้ชีพฉุกเฉิน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมทีมกู้ชีพสามารถออกปฏิบัติการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ณ จุดเกิดเหตุได้ภายใน 10 นาที พร้อมจัดทีมแพทย์พยาบาลประจำห้องฉุกเฉิน สำรองคลังเลือด ห้องผ่าตัด ออกซิเจนพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง 5.ให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนให้หยุดรถก่อนผ่านทางรถไฟเนื่องจากมีอุบัติเหตุหมู่เกิดขึ้น และ 6.ขอให้ประชาชนระมัดระวังสุขภาพเนื่องจากขณะนี้สภาพอากาศในช่วงเทศกาลสงกรานต์เปลี่ยนแปลงเร็วทำให้สภาพร่างกายปรับตัวไม่ทัน การเล่นน้ำสงกรานต์ผู้ใหญ่ไม่ควรเล่นติดต่อกันเกิน 4 ชั่วโมงส่วนเด็กไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง และน้ำที่ใช้สาดไม่ควรนำน้ำแข็งลงไปแช่และควรเป็นน้ำสะอาด เพราะหากเป็นน้ำที่สกปรกหากสาดเข้าตา ปาก หรือจมูกอาจเกิดการติดเชื้อ เช่น ตาแดง เป็นต้น หลังเล่นน้ำแล้วควรรีบชำระล้างร่างกาย และเปลี่ยนเสื้อผ้าให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย หากหนาวมากอาจจิบน้ำอุ่น เพื่อป้องกันไข้หวัด ปอดบวม ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
............................ 14 เมษายน 2554