วันนี้ ( 3 เมษายน 2554) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคใต้ ว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติรายงานมีผู้เสียชีวิต 45 ราย สูญหาย 1 ราย ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช 19 ราย จ.สุราษฎร์ธานี 10 ราย กระบี่ 9 ราย พัทลุง 3 ราย ตรัง และชุมพร จังหวัดละ 2 ราย ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการผู้ประสบภัยทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม-2 เมษายน 2554 ออกหน่วย 677 ครั้ง ผู้รับบริการรวม 18,378 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจเช่นไข้หวัด ร้อยละ 60 รองลงมาคือโรคน้ำกัดเท้าร้อยละ 23 โรคผิวหนังผื่นคัน ร้อยละ 5 ส่วนด้านสุขภาพจิตให้บริการแล้ว 69 ราย พบมีความเครียดสูง 15 ราย มีภาวะซึมเศร้า 7 ราย สาเหตุมาจากสภาพความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไป ทรัพย์สินเสียหาย บางรายสูญเสียญาติ คนรู้จัก ทีมสุขภาพจิตได้ให้คำปรึกษาและจะติดตามดูแลต่อเนื่อง และในวันนี้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม กระทรวงสาธารณสุข จะส่งยารักษาโรคน้ำกัดเท้า ให้จ.สุราษฎร์ธานีอีก 30,000 ชุด สำหรับหน่วยบริการสาธารณสุข ถูกน้ำท่วม 250 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและเปิดให้บริการได้ โดยมีโรงพยาบาลชุมชนเพียง 1 แห่งที่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ คือ โรงพยาบาลท่าโรงช้าง น้ำยังท่วมสูง 2 เมตร ส่วนโรงพยาบาลท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช วันนี้เปิดบริการได้แล้วที่แผนกผู้ป่วยนอก ห้องฉุกเฉิน แผนกผู้ป่วยใน ส่วนห้องผ่าตัดจะเปิดให้บริการได้ในวันอังคารหน้า นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า ด้านบริการส่งต่อผู้ป่วยหนักผู้ป่วยฉุกเฉินทางเฮลิคอปเตอร์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ประสานส่งต่อผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2554 รวมทั้งหมด 13 ครั้ง จำนวนผู้ป่วย 15 คน เมื่อวานนี้ส่ง 6 ราย ในเช้าวันนี้ส่งอีก 3 ราย จากร.พ.ท่าฉาง 2 ราย เป็นชายอายุ 50 ปี เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และชายอายุ 43 ปี เส้นเลือดในสมองแตก และจากร.พ.ท่าชนะ 1 ราย เป็นหญิงอายุ 89 ปี เป็นโรคไตวาย ทั้ง 3 ราย ส่งรักษาต่อที่รพ.สุราษฎร์ธานี เนื่องจากถนนถูกน้ำท่วมสูง ไม่สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ได้ ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันนี้ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมพื้นที่น้ำท่วม ที่จสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นในเรื่องของการเดินทาง สำหรับที่จ.นครศรีธรรมราช วันนี้ระดับน้ำเกือบทั้งหมดแล้ว จุดที่ยังมีปัญหาคือ อ.นบพิตำ เนื่องจากประชาชนยังอยู่ในพื้นที่ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เข้าไปให้บริการถึงบ้าน ถึงพื้นที่ ส่วนปัญหาขาดยาในกลุ่มของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ยังไม่มี เนื่องจากสถานบริการส่วนใหญ่ยังใช้การได้ ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาดินโคลนถล่มที่อ.เขาพนม จ.กระบี่ จนถึงวันนี้ ไม่มีผู้บาดเจ็บรายใหม่เพิ่มเติม โดยยังมีผู้บาดเจ็บนอนรักษาตัวที่ร.พ.เขาพนม 15 ราย ทุกรายอาการทุเลา ไม่มีปัญหาบาดแผลติดเชื้อ ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปให้บริการในจุดอพยพชาวบ้าน 2 จุดใหญ่คือที่วัดถ้าโกบประมาณ 150 คน และที่โรงเรียนวัดเทพพนม ประมาณ 100 คน โดยได้ส่งจิตแพทย์ นักจิตวิทยาจาก ร.พ.กระบี่ไปให้การดูแลสุขภาพจิตด้วย ****************** 3 เมษายน 2554


   
   


View 19    03/04/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ