วันนี้เริ่มสุ่มตรวจอาหารที่มาจากพื้นที่เสี่ยงจากญี่ปุ่น และมอบ อภ.ผลิตไอโอดีนเม็ด 15,000 เม็ด พร้อมเปิดจุดแจกฟรี เฉพาะคนไทยที่จะเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงทางเหนือของโตเกียว และจุดให้คำแนะนำคนไทยที่กลับจากญี่ปุ่น ที่สนามบินสุวรรณภูมิและภูเก็ต วันพรุ่งนี้ 

          วันนี้ (16 มีนาคม 2554) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติกรณีญี่ปุ่น ด้านการแพทย์และสาธารณสุข

นายจุรินทร์กล่าวว่า ทีมแพทย์ไทยที่ส่งไปญี่ปุ่น ขณะนี้อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ที่วัดปากน้ำ จังหวัดชิบะ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของโตเกียว ได้รับรายงานเบื้องต้นว่าคนไทยที่มารับการตรวจสุขภาพ ยังไม่พบผิดปกติ โดยได้เตรียมทีมแพทย์ฉุกเฉินสำรองไว้ 18 ทีม แต่ขณะนี้ทางญี่ปุ่นได้ส่งสัญญาณว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ทีมแพทย์ฉุกเฉินจากประเทศใดๆ สำหรับทีมสุขภาพจิตที่ได้เตรียมสำรองไว้ 3 ทีมนั้น จะได้มีการประสานกับกระทรวงการต่างประเทศต่อไป ถ้ามีความจำเป็นก็พร้อมที่จะเดินทางได้ทันที เพื่อให้การดูแลคนไทยที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น

          นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ในเรื่องการตรวจสอบอาหารที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ขณะนี้อย.ได้ร่วมมือกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สามารถตรวจรังสีได้ และได้มีการหารือร่วมกันในการกำหนดแนวทางที่จะสุ่มตรวจอาหาร เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยจะสุ่มตรวจเฉพาะอาหารที่มาจากพื้นที่เสี่ยงและนำเข้ามาหลังจากวันที่มีเหตุการณ์เตาปฏิกรณ์ปรมาณูระเบิดเป็นหลัก

                   

สำหรับเรื่องการผลิตไอโอดีนเม็ดเพื่อสำรองไว้ใช้ในยามจำเป็น ได้มอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.)ดำเนินการผลิตไอโอดีนเม็ด สำหรับใช้ป้องกันผลกระทบจากรังสี ในเบื้องต้นจะผลิต 15,000 เม็ด ประกอบด้วยขนาด 130 มิลลิกรัมใช้ในผู้ใหญ่ จำนวน 10,000 เม็ด และขนาด 65 มิลลิกรัมสำหรับเด็ก จำนวน 5,000 เม็ด ซึ่งปริมาณไอโอดีนที่ผลิตครั้งนี้จะมีความเข้มข้นมากกว่าที่ผลิตสำหรับแจกหญิงตั้งครรภ์ถึง 1,000 เท่า จะเริ่มต้นแจกตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป โดยจะแจกฟรี ที่สนามบินที่มีเที่ยวบินเดินทางจากไทยไปญี่ปุ่น เช่นที่สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินภูเก็ต เป็นต้น แต่จะมีการคัดกรองเบื้องต้นก่อน โดยจะแจกให้เฉพาะผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงที่ประเทศญี่ปุ่น คือพื้นที่ทางตอนเหนือของกรุงโตเกียวขึ้นไป และขอแนะนำว่าหากไม่จำเป็นไม่ควรเดินทางไปในพื้นที่ทางตอนเหนือของญี่ปุ่นในขณะนี้ แต่หากมีความจำเป็นก็ให้รับไอโอดีนเม็ดไปด้วย โดยมอบให้กรมควบคุมโรคเปิดจุดให้บริการที่สนามบิน เริ่มตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป

                                                                    

นอกจากนั้น ในส่วนการดูแลคนไทยที่เดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่น มอบให้กรมควบคุมโรค เปิดจุดบริการที่สนามบินทุกแห่งที่มีเที่ยวบินกลับจากญี่ปุ่น ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินภูเก็ต เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำการปฏิบัติตัวและคัดกรองเบื้องต้นตามความสมัครใจของคนไทยที่เดินทางกลับจากญี่ปุ่น เพราะการรับรังสีไม่เป็นโรคติดต่อ เป็นการรับรังสีเฉพาะตัว จึงเป็นเรื่องของความสมัครใจกรณีที่ต้องการคำแนะนำเพื่อให้เกิดความมั่นใจ หรือตรวจสุขภาพ ถ้ามีปัญหาจะได้รับการรักษาได้ทันท่วงที และหากพบว่าต้องมีการตรวจติดตาม

ก็สามารถไปรับบริการได้ที่โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โดยกระทรวงสาธารณสุขจะจัดทำเอกสารแจกบนเครื่องบินก่อนเครื่องลงด้วย เพื่อให้ผู้เดินทางประเมินความเสี่ยงการได้รับรังสีด้วยตนเองเบื้องต้น และรับทราบว่าจะขอรับบริการคำปรึกษาแนะนำได้ที่ใด 

ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้มีการติดตามสถานการณ์ที่ประเทศญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติกรณีญี่ปุ่น ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่มีนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ซึ่งมีการประชุมประเมินสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขทุกวัน

 ************************************** 16 มีนาคม 2554



   
   


View 9    16/03/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ