จากการกรณีที่มีข่าวหญิงวัย 50 ปี ชาวอำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ มีอาการตาแดง ปวดตา ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลประจำอำเภอเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554 ต่อมามีอาการแพ้ยาหยอดตา เกิดแผลพุพองคล้ายไฟไหม้ทั้งตัว หลังหยอดตาได้ 1 วัน ขณะนี้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์จังหวัดสุรินทร์ นั้น  

วันนี้ (2 มีนาคม 2554) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นการแพ้ยา ซึ่งมีหลายระดับ ตั้งแต่ไม่รุนแรง เป็นผื่น ลมพิษ จนรุนแรงถึงเสียชีวิต สำหรับผู้ป่วยรายนี้หลังหยอดตาแล้วมีอาการทำให้ผิวหนังลอกทั้งตัว เหมือนโดนน้ำร้อนลวก เกิดจากการแพ้ยารุนแรงที่มีการทำลายเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง หรือที่เรียกว่า เทน (TEN:Toxic Epidermal Necrolysis) ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ต้องให้อยู่ในห้องปลอดเชื้อเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และให้ยาลดภาวะการแพ้ให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ การแพ้ยาไม่ได้ขึ้นกับขนาดและระยะเวลาของการกินยา แต่จะขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาการตอบสนองของร่างกายแต่ละคน  ดังนั้นก่อนใช้ยา ไม่ว่าจะเป็นยากิน ยาทา ยาหยอดตา ต้องรู้ว่าตัวเองแพ้ยาอะไร เมื่อไปพบแพทย์ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง หากสงสัยว่าจะเกิดอาการแพ้ยา ให้รีบหยุดยาดังกล่าวทันทีและรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เนื่องจากอาการแพ้ยาอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นในทันที บางครั้งเคยรับประทานยาตัวเดิมไปหลายปีแล้ว แต่เพิ่งมาเกิดอาการแพ้ยาในภายหลังก็เป็นได้ 
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต กล่าวว่าในวันนี้ ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์จังหวัดสุรินทร์ ว่า ผู้ป่วยรายนี้ มีอาการผื่นแพ้ยาอย่างรุนแรง ที่วงการแพทย์เรียกว่า เทน เป็นอาการแพ้ยาที่พบค่อนข้างน้อย แต่มีความรุนแรงมากที่สุดเพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ง่ายและรวดเร็ว ขณะนี้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แผลที่ผิวหนังเริ่มแห้ง ไม่มีการติดเชื้อ ดวงตาทั้ง 2 ข้างยังมองเห็นได้ดี ได้ให้ทีมแพทย์ของโรงพยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง ด้านโรคติดเชื้อ จักษุแพทย์ โดยให้อยู่ในห้องแยกเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ผิวหนัง ทำแผลทุก 2 ชั่วโมง และให้ยาเมทธิลเพรดนิโซโลน (Methylprednizolone) เพื่อหยุดอาการแพ้ของผู้ป่วย
สำหรับยาที่เป็นสาเหตุการแพ้ที่พบบ่อยที่สุดประมาณร้อยละ 80-90 คือยากลุ่มซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamide) ยาเฟนีโทอีน (Pheytoin) และยาคาร์บามาซีพีน (Carbamazepine) ซึ่งใช้รักษาโรคลมชัก ยาอัลโลพูรินอล(Allopurinol) รักษาโรคเก๊าท์ ลดการสร้างกรดยูริค ยากลุ่มเอ็นเสดส์ (NSAIDs) แก้อักเสบ แก้ปวด และลดไข้ เช่น ไพร็อกซีแคม (Piroxicam) ฟีนิลบูทาโซน (Phynylbutazone) อาการแพ้ยาที่เกิดขึ้นจะมีอาการนำคล้ายไข้หวัดมีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ตาแดง  อาจมีอาการในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังได้รับยา ตั้งแต่ 1 – 45 วัน เฉลี่ยประมาณ 14วัน
                นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนตามผิวหนัง ผิวแดงไปทั้งตัว มีตุ่มน้ำพองต่อมาผิวหนังชั้นนอกจะลอกออกเป็นแผ่น เห็นเป็นสีแดงเหมือนแผลถูกไฟไหม้ อาจมีแผลในปากริมฝีปาก ผิวที่ปากลอกและแตก ตาอักเสบ โดยในช่วงที่หนังหลุดออกร่างกายจะสูญเสียน้ำง่าย อาจเกิดความดันโลหิตต่ำได้ หลังจากนั้น 2-3สัปดาห์ผิวจะเกิดทดแทนผิวเก่าโดยไม่เป็นแผลเป็น ในการรักษาแพทย์จะต้องวินิจฉัยให้เร็ว ให้หยุดยาที่สงสัยทันที ให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล และอยู่ห้องแยกปลอดเชื้อ
*******************2 มีนาคม 2554


   
   


View 9    02/03/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ