สาธารณสุข เดินหน้าพัฒนามาตรฐานบริการการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทย เร่งพัฒนาบุคลากรให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยในปี 2554 นี้ ขอเพิ่มกรอบโครงสร้างอัตรากำลังนักการแพทย์แผนไทย ในสสจ.และโรงพยาบาลทุกระดับ และจัดทำเกณฑ์มาตรฐานบริการนวดในโรงพยาบาลภาครัฐ ตั้งเป้าผ่านเกณฑ์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากขึ้น

วันนี้ (14 มกราคม 2554) ดร.พรรณสิริ   กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  เป็นประธานเปิดป้ายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาทุ่ง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย  ให้เป็นโรงพยาบาลใกล้บ้านใกล้ใจ เปิดบริการประชาชนตำบลนาทุ่งทุกกลุ่มอายุจำนวน 6,000 คน โดยการผสมผสานทั้งการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทย พร้อมเปิดงานรณรงค์สร้างสุขภาพดีวิถีไทย ที่ตำบลนาทุ่ง เพื่อลดโรคโรคติดต่อเช่น ไข้เลือดออก ลดโรคเรื้อรังเช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และส่งเสริมการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย  สมุนไพรไทย  อาหารไทย     
     
  
 
          ดร.พรรณสิริกล่าวว่า ในปี 2554 นี้ กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายยกระดับสถานีอนามัยทั่วประเทศทั้งหมด จำนวน 9,750 แห่งเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลภายในเดือนกันยายน 2554 มีบริการทั้งด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และการฟื้นฟูสภาพ โดยมุ่งให้โรงพยาบาลทุกระดับ ดำเนินการให้บริการผสมผสานกันระหว่างการแพทย์แผนปัจจุบันกับการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทย  ผลการสำรวจล่าสุดพบว่า ทั่วประเทศมีโรงพยาบาลในสังกัดเปิดบริการด้านการแพทย์แผนไทย จำนวน 2,521 แห่ง  มีบริการนวดไทยเพื่อการรักษา นวดไทยเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ การดูแลหลังคลอด การอบประคบสมุนไพร ต่อปีมีประชาชนใช้บริการกว่า 1 ล้านคน  ซึ่ง 1 ใน 3 เป็นผู้ใช้บริการการนวด
                 
                 
                ดร.พรรณสิริกล่าวต่อว่า ในการพัฒนาระบบบริการการแพทย์แผนไทยให้ได้มาตรฐาน เป็นที่มั่นใจของประชาชน ปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ขอเพิ่มกรอบโครงสร้างอัตรากำลังนักการแพทย์แผนไทยวุฒิปริญญาตรี เพื่อประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลด้วย ซึ่งตำแหน่งนี้ยังไม่เคยมีมาก่อน การมีอัตรากำลังประเภทนี้จะทำให้กรอบงานแพทย์แผนไทยมีความชัดเจนมากขึ้น
               
          นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จัดทำเกณฑ์มาตรฐาน การให้บริการนวดไทย แบ่งเป็น 2 ระดับคือ ระดับโรงพยาบาลภาครัฐซึ่งมีแพทย์ประจำ และระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือสถานีอนามัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริการนวดให้มีความปลอดภัย และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ  ซึ่งขณะนี้นวดไทยถือว่าเป็นบริการที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากประชาชน สามารถบำบัดอาการปวดเมื่อย คลายเครียดจากการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งความปวดเมื่อยร้อยละ 95 เกิดจากการมีพฤติกรรมดูแลสุขภาพที่ไม่ถูกวิธี นอกจากนี้ การนวดสามารถใช้เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ได้  ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ตั้งเป้าให้ผ่านตามเกณฑ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของสถานบริการที่เปิดบริการนวด โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการตรวจราชการในปี 2554 นี้
          มาตรฐานดังกล่าวมีทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านสถานที่ เครื่องมือ เครื่องใช้และสิ่งแวดล้อม  2.ด้านบุคลากรให้บริการ 3.ด้านการปฏิบัติงาน 4.ด้านการควบคุมคุณภาพ และ 5.ด้านการจัดบริการ ทั้งการรักษา การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และให้มีการใช้รหัสการวินิจฉัยโรคและอาการด้านการแพทย์แผนไทย ให้เป็นระบบเดียวกันทั่วประเทศด้วย      
 **************************** 14 มกราคม 2554


   
   


View 5       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ