นพ.สสจ.ตากสั่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงทันที “บุคลากรสาธารณสุข” ดื่มแอลกอฮอล์ในวอร์ด รพ.
- สำนักสารนิเทศ
- 1711 View
- อ่านต่อ
หวังพัฒนาให้ไทยเป็น “ศูนย์กลางการผลิตวัคซีนในภูมิภาคอาเซียน” ในอีก 10 ปี
วันนี้ (17ธันวาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ และเป็นสักขีพยาน ในพิธีลงนามโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรคกับมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อวิจัยพัฒนาวัคซีนเดงกี่หรือวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ชุดที่ 2 พ.ศ.2553-2557 ระหว่างนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นทำพิธีเปิดป้ายสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งตั้งอยู่ที่กรมควบคุมโรค
นายจุรินทร์ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้เป็นวันประวัติศาสตร์วันหนึ่งในวงการสุขภาพของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่อยากเห็นคือการจัดตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติขึ้นมา ถือว่าเป็นวันเปิดสถาบันอย่างเป็นทางการ หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้ผ่านความเห็นชอบในหลักการระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สถาบันแห่งนี้จะเป็นกลไกหลักสำคัญในการเดินหน้างานด้านวัคซีนของประเทศไทย ภายใต้นโยบายของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และจะเป็นกลไกสำคัญในการจัดทำแผนงานโครงการประสานงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในวันนี้ได้มีการลงนามระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในการที่จะร่วมมือกันพัฒนาวัคซีนสำคัญคือวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก
นายจุรินทร์กล่าวว่า สาเหตุที่ประเทศไทยจำเป็นต้องจัดตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติขึ้น เนื่องจากในอดีตไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพในการผลิตวัคซีนใช้เองได้อย่างน้อย 8 ตัว แต่ปัจจุบันด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งการขาดกลไกในการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ขาดความต่อเนื่องในการพัฒนาวัคซีน ทั้งด้านศักยภาพและองค์ความรู้ ขณะนี้ไทยผลิตวัคซีนใช้เองได้เพียง 2 ตัว คือวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม และวัคซีนป้องกันวัณโรคในเด็กผลิตโดยสภากาชาดไทย
โครงการผลิตวัคซีนครั้งนี้ ได้จัดทำแผนงานในระยะเวลา 10 ปี ตั้งเป้าหมายจะผลิตวัคซีนพื้นฐานใช้เองไม่น้อยกว่า 7 ตัว เพื่อพึ่งตนเองด้านวัคซีนให้ได้ ใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลจัดงบประมาณให้ 4,000 ล้านบาท ส่วนภาคเอกชนสนับสนุนให้อีก 1,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันจะร่วมมือกับต่างประเทศพัฒนาวัคซีนอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เราพึ่งตนเองได้และลดการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศซึ่งมีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 3,000 ล้านบาท หากผลิตแล้วมีเหลือใช้ ก็จะส่งออกไปขายต่างประเทศได้ด้วย ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายว่าภายใน 10 ปีไทยจะเดินหน้าไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนในภูมิภาคอาเซียนด้วย
ทั้งนี้ วัคซีนพื้นฐาน 7 ตัว ที่ตั้งเป้าผลิตได้แก่ 1.วัคซีนคอตีบ 2.วัคซีนไอกรน 3.วัคซีนบาดทะยัก ซึ่งวัคซีนทั้ง 3 ตัวนี้ตั้งเป้าจะผลิตให้ได้ภายใน 2 ปี 4.วัคซีนตับอักเสบบี ตั้งเป้าผลิตภายใน 4 ปี 5.วัคซีนวัณโรค จะขยายการผลิตออกไปอีกภายใน 5 ปี 6. วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี จะผลิตให้ได้ภายใน 5 ปี และสุดท้าย 7. วัคซีนไข้เลือดออกตั้งเป้าผลิตให้ได้ภายใน 10 ปี สำหรับความร่วมมือการผลิตวัคซีนไข้เลือดออกระหว่างมหาวิทยาลัย มหิดลกับกระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถนำมาใช้ทดสอบในคนได้ภายใน 2-3 ปี นายจุรินทร์กล่าว
ทางด้าน นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตามโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับมหาวิทยาลัยมหิดลในการพัฒนาวัคซีนเดงกี่นั้น เป็นการพัฒนาวัคซีนเดงกี่สายพันธุ์ที่ 1-4 เป็นชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ โดยความร่วมมือในชุดที่ 2 พ.ศ. 2553-2557 นี้ เป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิผล มีความปลอดภัย เพื่อใช้ในการควบคุมโรคในวงกว้าง โดยแบ่งเป็น 5 โครงการ คือ 1.โครงการพัฒนาในระดับห้องปฏิบัติการหรือพรีคลีนิก 2. โครงการทดสอบวัคซีนในคนระยะที่ 1และ 2 3.โครงการเตรียมพื้นที่สำหรับทดสอบวัคซีนภาคสนาม 4.โครงการพัฒนาบุคลากรเพื่อส่งเสริมการวิจัยพัฒนาวัคซีนเดงกี่ และ 5. โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตวัคซีนในระดับอุตสาหกรรม ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว ในส่วนของโครงการพัฒนาวัคซีนเดงกี่ 1-4 ชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 โดยกรมควบคุมโรคได้สนับสนุนทุนจำนวน 11 ล้านบาท เพื่อพัฒนาวัคซีนที่พร้อมจะเข้าสู่การทดสอบทางคลินิกในคน และได้แต่งตั้งคณะทำงานประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการดังกล่าว 1 คณะ
************* 17 ธันวาคม 2553