รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกนโยบายผลักดันตั้งโรงงานสมุนไพรแห่งชาติ เป็นศูนย์กลางวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยาแผนไทยและผลิตภัณฑ์สมุนไพร มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะการรองรับเขตการค้าเสรีอาเซียนที่จะมีผลบังคับในปี 2558 ชี้ขณะนี้สมุนไพรไทยมีมูลค่าใช้ไม่ถึงปีละ 400 ล้านบาท มีโรงงานผลิตยาแผนไทย 1,007 แห่ง แต่ผ่านเกณฑ์จีเอ็มพี 29 แห่ง              

          วันนี้(16 ธันวาคม 2553 ) ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดงาน เมืองจันท์สุขภาพดี บนวิถีไทย ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี ว่า ในปี 2554 นี้ กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายผสมผสานการแพทย์แผนไทยในสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับของกระทรวงฯซึ่งมีจำนวน 10,611 แห่ง เพื่อให้ประชาชนที่เจ็บป่วยได้ใช้บริการการแพทย์แผนไทยเช่นการนวด ประคบ อบ บรรเทาอาการปวดเมื่อย การฟื้นฟูสมรรถภาพต่างๆ   ซึ่งพบว่าได้รับความนิยมมากขึ้น ในปี 2552 มีผู้ใช้บริการ 3 แสนกว่าราย ส่วนการใช้ยาจากสมุนไพรไทยเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยแทนการใช้ยาแผนปัจจุบัน ซึ่งตั้งเป้าหมายจะเพิ่มให้ได้ร้อยละ 10 ต่อปี พบว่ายังมีการใช้น้อยมาก ในปี 2552 มีมูลค่าการใช้ยาสมุนไพร เพียง 391 ล้านกว่าบาท ซึ่งไม่ถึงร้อยละ 2 ของการใช้ยาแผนปัจจุบันที่มีมูลค่า 2 หมื่นกว่าล้านบาท โดยมีการสั่งนำเข้ายาแผนปัจจุบันสูงถึง 99,470 ล้านบาท
              ดร.พรรณสิริ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ยาสมุนไพรไทยได้รับความนิยมน้อย เกิดจากการขาดองค์ความรู้ที่น่าเชื่อถือ ขาดผลงานวิจัยยืนยันประสิทธิผลและความปลอดภัย บุคลากรการแพทย์แผนไทยขาดความเชี่ยวชาญและขาดการยอมรับจากองค์การวิชาชีพอื่น และที่หนักที่สุดคือผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ขาดคุณภาพมาตรฐาน ขณะนี้มีโรงงานยาสมุนไพรที่ขึ้นทะเบียน อย.1,007 แห่ง แต่ผ่านจีเอ็มพี เพียง 29 แห่ง ซึ่งคาดว่าเมื่อเขตการค้าเสรีอาเซียนมีผลบังคับใช้ปี พ.ศ.2558 จะทำให้โรงงานเหล่านี้ต้องปิดตัวไปไม่ต่ำกว่า 900 แห่งเนื่องจากไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้ จะทำให้สูตรตำรับยาแผนไทยของชาติที่ขึ้นทะเบียนไว้สูญหายไปด้วย
          ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเร่งด่วน ตั้งโรงงานสมุนไพรแห่งชาติ ให้เป็น ศูนย์พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีสมุนไพรแห่งชาติ สังกัดกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนายาแผนไทยด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาดูงานและถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิตยาสมุนไพรที่สำคัญของประเทศ เป็นกลไกลสำคัญที่จะประคับประคองความมั่นคงทางยาของประเทศไทยได้
ทั้งนี้ได้ลงนามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและวางแผนการจัดตั้งโรงงานสมุนไพรแห่งชาติ 1 ชุดรวม 18 คน เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ คณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมโรงงานอุตสาหกรรม องค์การเภสัชกรรม โดยคณะทำงานจะศึกษาและกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการโรงงานสมุนไพรแห่งชาติ การคัดเลือกพื้นที่ตั้งโรงงาน เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว จะนำเรื่องเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามเพื่อนำเสนอเข้าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงงานดังกล่าวได้ประมาณ ปี พ.ศ.2555 และจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2556
*********************** 16 ธันวาคม 2553


   
   


View 9    16/12/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ