ห่วง 3 เรื่องใหญ่ คือบาดเจ็บจากเล่นพลุ ประทัดดอกไม้ไฟ อุบัติเหตุจราจร การทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย  และการจมน้ำ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเตรียมรับมือคืนวันลอยกระทงวันพรุ่งนี้ ( 21 พฤศจิกายน 2553 ) ว่า  ได้กำชับให้โรงพยาบาลในสังกัดกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ จัดทีมแพทย์ฉุกเฉินซึ่งมีกว่า 3,000 ทีม พร้อมรถพยาบาล และจัดกำลังเจ้าหน้าที่ประจำห้องฉุกเฉิน  ให้พร้อมรักษาพยาบาลเต็มที่ โดยเปิดสายด่วน 1669 รับแจ้งเหตุการณ์บาดเจ็บหรือป่วยฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง 

นายจุรินทร์กล่าวว่า ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดในคืนลอยกระทงมี  3 เรื่องใหญ่  ปัญหาแรกคือ การบาดเจ็บจากการเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟนั้น   ในปี 2552 สำนักระบาดวิทยา ได้รวบรวมรายงานจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 28 แห่ง พบว่าในคืนลอยกระทง มีผู้ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจากถูกเปลวไฟหรือถูกสะเก็ดพลุระเบิด ดอกไม้ไฟ เข้ารักษาที่ห้องฉุกเฉิน  32 ราย คิดเป็นร้อยละ 40 ของจำนวนผู้บาดเจ็บตลอดเดือนพฤศจิกายน ไม่มีผู้เสียชีวิต  ผู้บาดเจ็บร้อยละ 45 เป็นนักเรียนนักศึกษา อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บมากที่สุด คือ มือและข้อมือ เช่นนิ้วแตก มือฉีก จากแรงอัดของพลุ พบร้อยละ 45   รองลงมาคือศีรษะแตก เป็นแผลที่ใบหน้า ร้อยละ 22  ซึ่งมักจะถูกที่ดวงตา ทำให้เป็นแผลที่เยื่อบุตาและที่ตาดำ นอกจากนี้ยังพบแผลไหม้จากเปลวความร้อนตามร่างกายร้อยละ 13 
ปัญหาที่ 2 ได้แก่ อุบัติเหตุจราจร เนื่องจากมีการใช้รถใช้ถนนสัญจรกันมากขึ้น  ประกอบกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉลองเทศกาลลอยกระทง ซึ่งนอกจากทำให้เกิดอุบัติเหตุแล้วยังเป็นสาเหตุการทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายอีกด้วย  และปัญหาที่ 3. คือการจมน้ำ ในปี 2552 เฉพาะวันลอยกระทงวันเดียว มีคนจมน้ำเสียชีวิตสูงถึง 20 คน สาเหตุเกิดจากพลัดตกน้ำ หรือว่ายน้ำไปเก็บสตางค์ที่ประชาชนใสในกระทง ซึ่งมักพบในกลุ่มเด็กๆ มีจำนวนมากถึง 1 ใน 4 ของผู้เสียชีวิต  
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ขอย้ำเตือนผู้ปกครองช่วยกันดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิด  ใช้รถใช้ถนนอย่างระมัดระวัง  ไม่ดื่มสุราเมื่อต้องขับขี่รถ   อย่าส่งเสริมให้เด็กๆเล่นดอกไม้ไฟ ประทัด และพลุ เนื่องจากเป็นวัตถุอันตรายอยู่ในหมวดหมู่ของวัตถุระเบิดชนิดหนึ่ง เป็นอันตรายสำหรับเด็ก ห้ามจุดเล่นเองเด็ดขาด และไม่ควรให้เด็กอยู่ใกล้บริเวณที่จุดพลุ  ส่วนผู้ใหญ่ หากจะเล่นต้องเล่นให้ถูกวิธีตามข้อแนะนำอย่างเคร่งครัด คือ เล่นในโล่ง ที่ราบ อยู่ห่างไกลจากบ้านเรือนหรือวัตถุไวไฟต่างๆ เวลาเล่นควรเตรียมน้ำเปล่า 1 ถังไว้ใกล้ตัวเสมอ เพื่อใช้ดับเพลิงดอกไม้ไฟหรือพลุที่จุดแล้วแต่ไม่ระเบิด ที่สำคัญคือ อย่าทดลองทำดอกไม้ไฟหรือพลุเล่นเอง
นอกจากนี้ ระวังลูกหลานไม่ให้พลัดตกน้ำ  หรืออย่าให้ลงเล่นน้ำ การอยู่ในน้ำนานๆ  อาจทำให้เกิดตะคริว และจมน้ำเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ผู้ที่จมน้ำเสียชีวิตจะเกิดขึ้นรวดเร็วมาก หากเป็นน้ำจืดจะเสียชีวิตภายใน 3-4 นาที ส่วนน้ำเค็มจะใช้เวลาประมาณ 7-8 นาทีเท่านั้น นายจุรินทร์กล่าว

 ********************** 20 พฤศจิกายน 2553



   
   


View 2       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ