วันนี้ (23ตุลาคม 2553)ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์                   รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอุทกภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข หรือวอร์รูมของกระทรวงสาธารณสุข ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้ทุกจังหวัดจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมให้มากที่สุด และครอบคลุมทั้งการตรวจรักษาทางกายและดูแลสุขภาพจิตด้วย ในวันนี้กรมการแพทย์ได้จัดส่งทีมแพทย์ พยาบาลจากส่วนกลาง ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี 2 ทีม และสถาบันประสาทวิทยา 1 ทีม ไปออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ช่วยเหลือประชาชนในจังหวัดนครราชสีมา
ในการให้ความช่วยเหลือโรงพยาบาลที่ประสบอุทกภัย ได้มอบหมายให้สำนักตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประสานการจับคู่โรงพยาบาลที่ไม่ประสบอุทกภัย เพื่อให้การสนับสนุนช่วยเหลือด้านยาและเวชภัณฑ์ในกรณีฉุกเฉิน โดยรพ.มหาราชนครราชสีมาจับคู่รพ.ขอนแก่น รพ.ชัยภูมิจับคู่รพ.สระบุรี รพ.พิมายจับคู่รพ.บุรีรัมย์ รพ.บุรีรัมย์จับคู่รพ.สุรินทร์ รพ.เสนาจับคู่รพ.พระนครศรีอยุธยา รพ.ชัยนาทจับคู่รพ.สิงห์บุรี รพ.สมเด็จพระนารายณ์ ลพบุรีจับคู่รพ.อ่างทอง รพ.บ้านหมี่จับคู่รพ.ท่าวุ้ง รพ.อินทร์บุรีจับคู่รพ.บางระจัน รพ.พรหมบุรีจับคู่รพ.ท่าช้าง 
นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้องค์การเภสัชกรรมส่งยาให้ 10 จังหวัด ดังนี้ เลย เพชรบุรี อ่างทอง นนทบุรี นครราชสีมา ชลบุรี สิงห์บุรี ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิและพระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วย ยาชุดตำราหลวง 25,000 ชุด ยาชุดช่วยเหลือน้ำท่วม 29,000 ชุด ยาทาน้ำกัดเท้า 35,000 หลอด ยาทาแก้คัน 20,000 หลอด และกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งยาทาน้ำกัดเท้าที่ผลิตโดยรพ.พระนั่งเกล้า ให้จังหวัดนนทบุรีอีก 2,000 ตลับ
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับพื้นที่ประสบภัยที่ยังต้องเฝ้าระวังมี 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา ลพบุรี ชัยภูมิ และพระนครศรีอยุธยา มีสถานบริการสาธารณสุขได้รับความเสียหาย 52 แห่ง เป็นโรงพยาบาล 5 แห่ง อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา โรงพยาบาลชัยภูมิ และโรงพยาบาลพิมาย รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชน 1 แห่งคือโรงพยาบาลเซนต์แมรี่ จังหวัดนครราชสีมา ทั้งนี้กองแบบแผนของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้จัดทีมช่างโยธา เครื่องกลและไฟฟ้า จำนวน 2 ทีม สำรวจความเสียหายของโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดนครราชสีมาและลพบุรี ส่วนกองวิศวกรรมการแพทย์ได้ส่งทีมสำรวจพื้นที่อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรีและแก้ไขสัญญาณระบบสื่อสารที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
  นายแพทย์ณรงค์ กล่าวอีกว่า ผลการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ วานนี้(22 ตุลาคม 2553)ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ทั้งหมด 94 หน่วย มีผู้มารับบริการ 10,252 ราย โรคที่พบมากที่สุดคือน้ำกัดเท้าร้อยละ 45 รองลงมาคือ เครียดวิตกกังวลร้อยละ 13 ปวดเมื่อยร่างกายร้อยละ 10 อุจจาระร่วงร้อยละ 10 และปวดศีรษะร้อยละ 8 ให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย 13,475 คน ออกเยี่ยมบ้าน 178 หมู่บ้าน จำนวน 18,616 คน โดยมีผู้เสียชีวิต 32 ราย ได้แก่ นครราชสีมา 6 ราย บุรีรัมย์ 6 ราย ลพบุรี 5 ราย เพชรบูรณ์และขอนแก่นจังหวัด 3 ราย ชัยภูมิและระยองจังหวัดละ 2 ราย ตราด พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สระแก้วและนนทบุรีจังหวัดละ 1 ราย
ส่วนกรมสุขภาพจิตได้ส่งทีมสุขภาพจิตจากโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต ลงพื้นที่เยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดนครราชสีมา สระแก้ว ลพบุรี เพชรบุรี ปราจีนบุรีและนครสวรรค์ ร่วมกับศูนย์สุขภาพจิตที่ 1,2,6,8 และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ให้บริการตรวจโรคทั้งทางร่างกายและจิตใจควบคู่กัน มีผู้รับบริการ 4,366 คน พบปัญหาสุขภาพจิต 603 คน ได้ให้คำแนะนำ ให้ยารักษาอาการและให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
******************************************    23 ตุลาคม 2553


   
   


View 15       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ