โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผยอาการล่าสุดของปศุสัตว์อ่างทอง ที่ป่วยหลังเข้าไปทำลายสัตว์ปีกติดเชื้อ ที่ตำบลธรรมนิมิต อำเภอสามโก้ วันนี้ไม่มีไข้ อาการโดยรวมดีขึ้นมาก แพทย์ให้กินโอเซลทามิเวียร์ 5 วัน ยังรอผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ส่วนสถานการณ์การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคนทั่วประเทศกว่า 400 คนยังไม่พบรายใดติดเชื้อ นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงปศุสัตว์อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง ที่มีอาการป่วย หลังจากเข้าไปตรวจสอบไก่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ที่ตำบลธรรมนิมิต อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นจุดพบเชื้อไข้หวัดนกและทำลายไก่ทั้งหมด พร้อมส่งไปตรวจหาเชื้อไข้หวัดนกเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2550 ด้วยอาการอ่อนเพลีย ไข้สูง ไอ ตัวร้อน ว่า ผลการทดสอบเชื้อด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น พบว่าผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ทั้งนี้แพทย์ได้ให้ยา โอเซลทามีเวียร์แก่ผู้ป่วยตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับการรักษาแล้ว เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส โดยให้กินติดต่อกัน 5 วัน และนอนรักษาในห้องแยก ปัจจุบันผู้ป่วยอาการดีขึ้น ไม่มีไข้ ไอเล็กน้อย อยู่ระหว่างรอผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คาดว่าจะทราบผลอย่างเร็วภายในเย็นวันนี้ นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อไปว่า สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในคน ซึ่งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขทั่วประเทศ เฝ้าระวังผู้ที่มีไข้ ไอ หรือมีอาการปอดอักเสบในทุกหมู่บ้านและในสถานพยาบาลทุกแห่ง ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550–วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 มีทั้งหมด 464 ราย จาก 48 จังหวัด เฉพาะวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 ได้รับรายงานทั้งหมด 18 จาก 11 จังหวัด ดังนี้ กาญจนบุรี 4 ราย เลย 3 ราย นนทบุรีและกำแพงเพชร จังหวัดละ 2 ราย อ่างทอง สุพรรณบุรี นครปฐม ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี พิจิตร และมหาสารคาม จังหวัดละ 1 ราย ทราบผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการแล้ว 428 ราย ไม่พบรายใดติดเชื้อไข้หวัดนก ยังรอผลการตรวจอีก 36 ราย ในการป้องกันโรคไข้หวัดนกไม่ให้ติดต่อสู่คนนั้น ประชาชนทุกคนต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ โดยคนติดเชื้อไข้หวัดนกมาจากการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ปีกที่ติดเชื้อหรือตาย โดยเชื้อจะอยู่กับมูล ปัสสาวะ น้ำมูก น้ำลาย ขน อวัยวะต่างๆ ในร่างกาย หรือเลือดของสัตว์ที่ติดเชื้อ ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจะสูงที่สุด หากมีการสัมผัสและชำแหละสัตว์ปีกที่ติดเชื้อไวรัส เชื้อจะติดอยู่ที่มือ และเข้าสู่ร่างกายได้ทางปาก จมูกหรือตา ดังนั้น จึงห้ามนำสัตว์ปีกป่วยหรือตายผิดปกติมาชำแหละอย่างเด็ดขาด ขอให้ฝังกลบหรือเผาเพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย ไม่ควรนำไปทิ้งตามแม่น้ำ ลำคลอง ทะเล นอกจากนี้ ผู้ที่อยู่ใกล้หนองน้ำที่มีนกป่ามาอาศัย ควรหลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำ หรือนำน้ำจากแหล่งดังกล่าวมาใช้ ....................................... 6 กุมภาพันธ์ 2550


   
   


View 8    06/02/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ