วันนี้ (9 สิงหาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ประจำเดือนสิงหาคม 2553 เกี่ยวกับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกว่า สถานการณ์ในภาพรวมยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากสถิติผู้ป่วยที่ปรากฏพบว่าปีนี้มีผู้ป่วยสูงกว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ 83 เมื่อเทียบในช่วงระยะเวลาเดียวกัน และตัวเลขมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาตัวเลขสูงกว่าปีที่แล้วประมาณร้อยละ 40 ในวันนี้ได้กำชับในที่ประชุมว่า จะต้องมีการติดตามแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม เป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกสูงทุกปี

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า จำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 จนถึงขณะนี้ มีจำนวน 48,514 ราย เพิ่มจากสัปดาห์ที่แล้ว 3,135 ราย มีผู้เสียชีวิต 53 ราย เพิ่มขึ้น 10 ราย ได้แก่ สงขลา 3 ราย นครศรีธรรมราช 2 ราย ประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ นครราชสีมา สุรินทร์ และเชียงใหม่จังหวัดละ 1 ราย ภาคที่มีการระบาดมากที่สุดคือภาคใต้ รองลงมาได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสะสมมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ จันทบุรี ตาก สงขลา นราธิวาส สตูล ปัตตานี กระบี่ ตราด พัทลุง และระยอง
          นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า ในวันนี้ได้สั่งการในที่ประชุมให้ผู้รับผิดชอบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการตามมาตรการ คือให้ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ทั้งในบ้านและบริเวณโดยรอบบ้าน และทำลายยุงตัวโตเต็มวัยเช่นเดียวกับที่ได้ดำเนินการมาแต่จะต้องเข้มข้นมากขึ้น และเพิ่มคำแนะนำสำหรับประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นไข้เลือดออก โดยการขอให้ทายากันยุง เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงกัด และจะเป็นการป้องกันไม่ให้ยุงกัดผู้ที่ป่วยแล้วนำเชื้อไข้เลือดออกไปแพร่ติดต่อคนอื่นด้วย
          ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการป้องกันไมให้เชื้อไข้เลือดออกแพร่ระบาด โดยเฉพาะประชาชนที่กำลังมีอาการป่วยเป็นไข้และนอนอยู่ในบ้าน ขอให้นอนในมุ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงลายกัดและนำเชื้อไปแพร่สู่คนอื่น โดยยุงลายมักจะออกหากินในตอนกลางวัน พร้อมกันนี้ได้กำชับให้โรงพยาบาลทุกแห่งตรวจรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกด้วยความถี่ถ้วน เนื่องจากขณะนี้พบผู้ป่วยกระจายทุกกลุ่มอายุ โดยให้โรงพยาบาลหรือสถานบริการบริการสาธารณสุขต้องเป็นเขตปลอดยุงลาย ดูแลรักษาความสะอาดสิ่งแวดล้อมภายในสถานที่และบริเวณ ไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ส่วนประชาชนจะต้องช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุก 7 วัน เช่น เปลี่ยนน้ำหล่อขาตู้กับข้าว น้ำในแจกันดอกไม้ จานรองกระถางปลูกไม้ประดับ รวมทั้งทำลายภาชนะเหลือใช้รอบ ๆ บ้าน เช่นกระป๋อง กะลา กาบไม้ ยางรถยนต์เก่า ทุก  7 วันเพื่อตัดวงจรไม่ให้ลูกน้ำยุงลายกลายเป็นตัวยุง        
********************** 9 สิงหาคม 2553
 


   
   


View 9       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ