วันนี้(26 เมษายน 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขว่า ความคืบหน้าเรื่องสวัสดิการข้าราชการด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งมีปัญหา 2 ประเด็น คือ ประการแรกมีการระบุว่ามีการใช้ยาไม่สมเหตุสมผล ทำให้ค่าใช้จ่ายค่ายาในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาสูงขึ้น จนกระทั่งกรมบัญชีกลางและกระทรวงการคลังเป็นห่วง ประเด็นที่ 2 คือ ปปท.ได้ให้ข้อมูลว่ามีการกระทำที่ผิดกฎหมายในเรื่องการใช้ยาที่ไม่จำเป็น ในลักษณะที่ไม่ชอบมาพากล ซึ่งประเด็นนี้ได้พูดคุยกันว่าหากมีส่วนใดที่เกี่ยวพันกับกระทรวงสาธารณสุข ก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ

นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า กรณีการใช้ยาไม่สมเหตุสมผล ได้มีการตรวจสอบตัวเลขโดยคณะทำงาน ซึ่งมีนายแพทย์เสรี หงส์หยก รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ได้รายงานให้ทราบว่า จากการตรวจสอบโรงพยาบาลพบโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่มีการสั่งให้ใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติมีจำนวนร้อยละ 21 ของจำนวนโรงพยาบาลทั้งหมด ที่เหลือเป็นโรงพยาบาลนอกสังกัด
ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้มีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติ 1 ชุด ชื่อว่าคณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอายุ 3 ปี เพื่อศึกษาระบบหลักประกันสุขภาพที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือรักษาฟรีของประชาชน 48 ล้านคน เพื่อปรับให้มีความเหมาะสม ขณะเดียวกันได้มอบเป็นนโยบายหลักว่า อย่างน้อยที่สุดจะต้องคำนึงถึงการเข้าถึงการรักษาพยาบาลสำหรับโรคที่มีความร้ายแรงหรือรุนแรงและมีค่าใช้จ่ายสูง ต้องให้ผู้ใช้บริการ 3 ระบบนี้สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพได้โดยทั่วถึง เท่าเทียมกัน     
สำหรับคณะทำงานที่มีนายแพทย์เสรี หงส์หยก เป็นประธาน ได้ข้อสรุปและวันนี้ที่ประชุมเห็นชอบว่า กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าระบบสวัสดิการข้าราชการจะต้องมุ่งเน้น 4 เรื่อง คือ 1. การรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐาน ข้าราชการจะต้องได้รับบริการนี้ 2. ต้องเป็นบริการที่มีคุณภาพ 3. มีการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล และ4. ต้องไม่เป็นการลดสิทธิที่ข้าราชการเคยได้ ขณะเดียวกันก็มีความเห็นเพิ่มเติมว่าสิทธิบางสิทธิที่ระบบรักษาฟรีให้กับประชาชนทั่วไปเบิกได้ แต่ข้าราชการเบิกไม่ได้ ควรให้สิทธิข้าราชการเพิ่มเติม เช่น เรื่องค่าใช้จ่ายการเดินทางในระบบส่งต่อ ผู้ป่วยจากโรงพยาบาลหนึ่งไปยังโรงพยาบาลหนึ่ง ซึ่งประชาชนในระบบรักษาฟรีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้ แต่สำหรับข้าราชการยังไม่ได้รับสวัสดิการยังไม่ได้รับ ยังต้องจ่ายเงินเอง เป็นต้น
นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรณีการใช้ยาให้สมเหตุสมผลนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะผลักดันเรื่องนี้ผ่านคณะกรรมการพัฒนายาแห่งชาติ ซึ่งมีพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นกรรมการ คณะกรรมการชุดนี้จะมีคณะอนุกรรมการอีก 4 ชุด ที่จะต้องดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ได้แก่ 1. คณะอนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ 2. อนุกรรมการราคากลางยา 3. อนุกรรมการวางยุทธศาสตร์การใช้ยาที่สมเหตุสมสมผล และ4. อนุกรรมการวางยุทธศาสตร์การใช้ยา
“ผมได้มอบให้อย.รณรงค์การใช้ยาที่สมเหตุสมผล เช่น รณรงค์ให้มีความรู้ความเข้าใจร่วมกันว่า ไม่ว่าจะเป็นยาต้นแบบที่ผลิตจากต่างประเทศ หรือยาที่ผลิตในประเทศแต่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย.ที่ถูกต้องนั้น คุณภาพไม่แตกต่างกัน ยกเว้นกรณียาที่มีความจำเป็นและไม่มียาที่ผลิตในประเทศไทย ก็สามารถที่จะใช้ยานำเข้าจากต่างประเทศได้” นายจุรินทร์ กล่าว
*****************************       26 เมษายน 2553
 
 


   
   


View 6       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ