นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ. พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และคณะ ร่วมกับพล.ต.ต.จตุรงค์ ภุมรินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ผบก.ปคบ.) และคณะ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ว่า สืบเนื่องจากตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ได้รับการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารที่ต้องสงสัยว่าผิดกฎหมาย จึงได้ประสานมายังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อร่วมตรวจสอบสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ดังนั้น เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2553 ตำรวจ บก.ปคบ. พร้อมด้วย อย.จึงนำหมายค้นศาลอาญาที่ ค.1132553 ไปยังบริษัท บิ๊กเบนซ์ เฮลท์ โปรดักส์ จำกัด เลขที่ 203/18 หมู่ 4 ซอยแจ้งวัฒนะ ถ.แจ้งวัฒนะ แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพ ฯ จากการตรวจสอบพบเป็นสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร และพบผลิตภัณฑ์อาหารผิดกฎหมายหลายรายการ

ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารเข้าข่ายอาหารปลอม จำนวน 4 ยี่ห้อ ได้แก่ 1.สลิมคัพ ชามะนาวปรุงสำเร็จผสมคอลลาเจน เลขสารบบอาหาร อย. 10-1-07851-2-0008 ซึ่งเป็นเลข อย.ปลอม ไม่มีในสารบบอาหาร จำนวน 3,472กล่อง 2.โกโก้มอลต์ ไวท์ เลเบิล สูตรถั่วขาวและกระบองเพชร เลขสารบบอาหาร อย. 10-1-07851-2-0003 ซึ่งเป็นเลข อย.ปลอม ไม่มีในสารบบอาหาร จำนวน 459 กล่อง 3.โกโก้ปรุงสำเร็จชนิดผง ตราสลิมคัพ ไฮ-แคลเซียม เลขสารบบอาหาร อย. 10-1-07851-2-0001 ซึ่งเป็นเลข อย.ปลอม ไม่มีในสารบบอาหาร จำนวน 576 กล่อง 4.กาแฟปรุงสำเร็จชนิดผง คิงส์คอฟฟี่พลัส คิง เฮิร์ป (King Herb) เลขสารบบอาหาร อย. 10-1-07851-1-0038 โดยฉลากแสดงชื่อผู้ผลิตไม่ตรงตามข้อเท็จจริง จำนวน 4,824กล่อง ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ทั้ง 4ยี่ห้อดังกล่าว ยังพบความผิดเกี่ยวกับการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง โดยฉลากแสดงสรรพคุณของส่วนประกอบ ซึ่ง อย.ไม่อนุญาตให้แสดง  

จากการตรวจสอบ ยังพบผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้าข่ายเป็นอาหารที่มีฉลากไม่ถูกต้อง ได้แก่ ฉลากระบุสรรพคุณของส่วนประกอบ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญ อีกจำนวน 17 ยี่ห้อ รวม 39,084 กล่อง เช่น ยี่ห้อ สลิมคัพ กาแฟปรุงสำเร็จชนิดผง สูตรข้าวกล้องงอก,จมูกข้าวหอมนิล เลขสารบบอาหาร อย. 10-1-07851-1-0065 ยี่ห้อสลิมคัพ ข้าวกล้องงอกชนิดผง เลขสารบบอาหาร อย. 10-1-07851-1-0084 ยี่ห้ออนสแตนท์ คอฟฟี่ ฟอร์ เฮลท์ (Instant Coffee for Health) ไฮ-คาเฟ ไลฟ์เทค เลขสารบบอาหาร อย. 10-1-07851-1-0024 ยี่ห้อฟิตตี้ คอฟฟี่ โกลเดนท์ ไลฟ์ (Fitty Coffee Golden Life) เลขสารบบอาหาร อย. 10-1-07851-1-0027 จำนวนรวมผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายทั้งสิ้น 43,872 กล่อง มูลค่ารวมกว่า 9 ล้านบาท จึงยึดและอายัดผลิตภัณฑ์ดังกล่าว รวมทั้งส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ตรวจวิเคราะห์หายาลดความอ้วน นอกจากนี้ ยังพบภาชนะบรรจุที่มีฉลากไม่ถูกต้อง จำนวน 16,000 กล่อง และเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตอาหารดังกล่าว จำนวน 5 รายการ รวมทั้งพบโปสเตอร์และแผ่นพับโฆษณาโอ้อวดว่า ผลิตภัณฑ์อาหารสามารถลดน้ำหนัก กระชับสัดส่วน จำนวน 41,200 ชิ้น จึงได้เตรียมดำเนินคดีผู้ผลิตหลายข้อหา ได้แก่
1. ผลิตอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 100,000 บาท 2. ผลิตอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท 3.โฆษณาสรรพคุณอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท 4.หากผลการตรวจวิเคราะห์ พบยาลดความอ้วนไซบูทามีนในผลิตภัณฑ์อาหาร จะจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้มีปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น คือเมื่อมีการจับกุมดำเนินคดีในรายการใดแล้ว ก็มีการเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนยี่ห้อ เปลี่ยนการผลิตเป็นอย่างอื่นบ้าง ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือว่าการทำเลข อย.ปลอมทำให้ประชาชนทั่วไปผู้บริโภคตรวจสอบได้ลำบาก ไม่ทราบอะไรจริง อะไรเป็นเท็จ
 
“วันนี้ได้หารือกับเลขาธิการ อย. ต้องมีการตรวจสอบสินค้าโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารเสริมทั้งหมดที่จำหน่ายตามท้องตลาด โดยการระดมกำลังทั้งหมด ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เมื่อตรวจเสร็จแล้วจะประกาศให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคได้รับทราบว่าเป็นอย่างไร เพื่อดำเนินคดีต่อไป ซึ่งจะประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น” นายจุรินทร์กล่าว
 
ด้านนายนพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าวมาบริโภค เนื่องจากอาจเป็นอันตราย หรือไม่ปลอดภัย และยังไม่ได้รับอนุญาตเลขสารบบอาหารจาก อย. ทั้งนี้ หากพบว่ามีการลักลอบใส่ยาไซบูทามีน ผู้บริโภคไม่ควรซื้อมาบริโภคเองอย่างยิ่ง เพราะยาดังกล่าวมีผลข้างเคียงสูงต้องใช้โดยความดูแลของแพทย์ โดยผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และหัวใจเต้นเร็ว แม้จะไม่มากนัก แต่มีผลให้ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 5 จำเป็นต้องหยุดยา   ส่วนผลข้างเคียงอื่นๆ ได้แก่ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ และท้องผูก เป็นต้น
 
ดังนั้นจึงขอความร่วมมือจากผู้บริโภคอีกทางหนึ่งในการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย หรือพบเห็นโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่หลอกลวงผู้บริโภค โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประเภทขายตรงที่ไม่มีในท้องตลาด โดยร้องเรียนแจ้งเบาะแสมายังสายด่วน อย. โทร 1556โทรศัพท์ 2 2590 1556อีเมล์ 1556@fda.moph.go.th หรือส่งตัวอย่าง/กล่องผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยมาที่ตู้ ปณ.1556ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสามารถมาร้องเรียนได้ด้วยตัวเองที่ ศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. อาคาร 1ชั้น 1ทุกวันและเวลาราชการ หรือร้องเรียนที่ บก.ปคบ. ตู้ปณ. 459 ปณศ. สามเสนใน พญาไท กทม. 10400 โดย อย. จะร่วมมือกับ บก.ปคบ.ในการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด รวมทั้งลงโทษสถานหนักแก่ผู้กระทำผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อไป เลขาธิการอย.กล่าว
  ****************************************       22 เมษายน 2553
 


   
   


View 13    22/04/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ