รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ปกครองระวังภัย เด็กจมน้ำตาย ภัยเงียบที่มาพร้อมกับปิดเทอมฤดูร้อน ในปี 2551 ทั่วประเทศมีผู้เสียชีวิตจากเหตุจมน้ำ 4,065 ราย ในจำนวนนี้ประมาณ 1 ใน 3 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ตายวันละ 4 คน ส่วนช่วงปิดเทอมฤดูร้อนปี 2552 เดือนมีนาคม-พฤษภาคม มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากถึง 500 ราย เหตุเกิดสูงสุดเวลาเที่ยงวันถึง 18.00 น. เร่งป้องกันโดยจัดวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ 6 มีนาคม 2553 เป็นครั้งแรกของประเทศไทย 

 นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดให้วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม 2553 เป็นวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำของประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดย กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับบริษัทสยามพาร์ค ซิตี้ จำกัดหรือสวนสยาม และสมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำ จัดงานร่วมสร้างวัคซีนให้เด็กไทย ปลอดภัย ไม่จมน้ำ ” ที่สวนสยามทะเลกรุงเทพ ในวันเสาร์ที่ 6 มีนาคม 2553 เพื่อเผยแพร่วิธีการเอาชีวิตรอดเมื่อตกน้ำ และช่วยเหลือผู้ตกน้ำ และจัดแข่งขันการลอยตัวของเด็กอายุ 6-14 ปี ผู้ปกครองสามารถพาบุตรหลานเข้าร่วมกิจกรรม จะเปิดบริการตั้งแต่เวลา 10.00 น.เป็นต้นไป

 

นางพรรณสิริ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาการเสียชีวิตจากการจมน้ำ ขณะนี้กำลังเป็นภัยเงียบของเด็กไทยที่ผู้ปกครองต้องใส่ใจให้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม   ซึ่งสภาพอากาศร้อนอบอ้าว เป็น 3 เดือนที่มีความเสี่ยงภัยจมน้ำสูงที่สุด เนื่องจากเด็กๆมักจะพากันไปเล่นน้ำ และเมื่อมีปัญหาจมน้ำเกิดขึ้น เด็กจะช่วยตัวเองไม่ได้ และมักจะตายในที่เกิดเหตุมากกว่า 2 คน   
จากการวิเคราะห์สถิติของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2551 มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ 4,065 ราย ในจำนวนนี้ร้อยละ 30 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี รวม 1,229 ราย เป็นชายมากกว่าหญิง 2 เท่าตัว เฉลี่ยวันละ 4 ราย เด็กที่เสียชีวิตร้อยละ 50-80 ว่ายน้ำไม่เป็น ส่วนในปี 2552 โดยเฉพาะช่วงปิดเทอมตั้งแต่เดือนมีนาคม – พฤษภาคม มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยเกือบ 500 ราย เฉลี่ยวันละ 6 ราย แค่เดือนมีนาคมเดือนเดียวเสียชีวิต 112 ราย ช่วงเวลาที่เกิดเหตุสูงสุดคือ เที่ยงวันถึงเวลา 18.00 น.
นางพรรณสิริกล่าวต่ออีกว่า ในการป้องกันปัญหาเด็กจมน้ำ ขอให้ผู้ปกครองดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดในช่วงปิดเทอมนี้ ผู้ที่มีลูกอายุต่ำกว่า 5 ปี ไม่ควรให้เด็กเล่นใกล้แหล่งน้ำทั้งแหล่งน้ำในบ้านและนอกบ้าน ซึ่งเด็กวัยนี้ มักจมน้ำเสียชีวิตมากในแหล่งน้ำที่อยู่ภายในบ้าน เช่น ถังน้ำ อ่างอาบน้ำ กะละมัง   เด็กสามารถจมน้ำได้ในน้ำที่มีระดับเพียง 1-2 นิ้ว เนื่องจากเด็กช่วยเหลือตัวเองยังไม่เป็น ส่วนเด็กอายุมากกว่า 5 ปีขั้นไป แหล่งที่จมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด มักเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติหรือแหล่งน้ำที่ขุดขึ้น เช่น ลำคลอง แม่น้ำ คูน้ำ สระน้ำ เป็นต้น
    ***********************************     5 มีนาคม 2553
 
 


   
   


View 2       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ