กระทรวงสาธารณสุข ย้ำมาตรการเข้ม 60 วันอันตรายไข้หวัดนก อสม.ทุกหมู่บ้านจะเดินเคาะประตูบ้านถามไถ่อาการเจ็บป่วยชาวบ้านและการป่วย/เสียชีวิตของสัตว์ปีกครอบคลุม 12 ล้านกว่าครัวเรือนทุกวัน ย้ำเตือนประชาชนอย่าจับซากสัตว์ปีกด้วยมือเปล่า เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากสัตว์ มั่นใจหากทุกฝ่ายร่วมมือกันจะสามารถป้องกันการป่วยในคนได้สำเร็จ เช้าวันนี้ (25 มกราคม 2550) นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมด้วยนายแพทย์รัฐวุฒิ สุขมี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ นำทีมสื่อมวลชนเยี่ยมชมจุดคัดกรองผู้ป่วยที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก ที่โรงพยาบาลแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากนั้นเดินทางไปชมมาตรการเฝ้าระวังควบคุมโรคไข้หวัดนกทั้งในคนและสัตว์ปีกในระดับหมู่บ้านของผู้นำชุมชนและอสม. เช่นการเคาะประตูบ้านเพื่อซักประวัติคัดกรองผู้ป่วย การฝังกลบซากสัตว์ปีก การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ที่หมู่บ้านป่าจี้วังแดง ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมบทบาทภาคประชาชน ในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มแข็งร่วมกับทางราชการ ซึ่งมาตรการนี้กำลังดำเนินการอย่างเข้มข้นเหมือนกันทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะมีเชื้อแพร่ระบาดหรือไม่ก็ตาม นายแพทย์บุญชัย กล่าวว่า โรคไข้หวัดนกเป็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและร่วมมือร่วมใจในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากเป็นโรคติดต่อที่รุนแรง เกิดในสัตว์ปีกเช่น นกธรรมชาติ หรือสัตว์ปีกที่เลี้ยงตามบ้าน เช่นไก่ เป็ด ห่าน และนกกระทา สัตว์เหล่านี้จะเริ่มมีอาการป่วยและตายอย่างรวดเร็วทันทีที่ได้รับเชื้อไวรัสเอช 5 เอ็น 1 (H5N1) ซึ่งขณะนี้ไวรัสสายพันธุ์นี้กำลังระบาดในหลายประเทศ และเป็นสายพันธุ์ที่เป็นไปได้สูงที่จะกลายพันธุ์หากเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์กับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในคน จนเกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่รุนแรงได้ทั่วโลก สำหรับประเทศไทย หลังจากที่พบมีการระบาดของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก และแพร่มาถึงคนในปี 2547 มีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล ซึ่งมีแนวโน้มว่าเชื้อไข้หวัดนกจะอยู่ในประเทศไทยไปอีกนาน โดยในปี 2547 ไทยพบผู้ป่วยไข้หวัดนกยืนยัน 17 รายเสียชีวิต 12 ราย ปี 2548 พบยืนยัน 5 รายเสียชีวิต 2 ราย ในปี 2549 พบยืนยัน 3 รายเสียชีวิตทั้ง 3 ราย ในปี 2550 นี้ยังไม่พบผู้ป่วย นายแพทย์บุญชัย กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง ตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดแนวเดียวกันทั่วประเทศ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์การเฝ้าระวังและป้องกันโรค 2. การเตรียมเวชภัณฑ์ วัสดุ อุปกรณ์ที่จำเป็น 3. การเตรียมความพร้อมควบคุมการระบาดฉุกเฉิน 4.การประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนและชุมชน และ5.การบริหารจัดการแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้มิสเตอร์ไข้หวัดนกเป็นแกนหลักในการบริหารจัดการในระดับพื้นที่ มั่นใจว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง จะสามารถหยุดป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาดมาสู่คนได้สำเร็จ จากประสบการณ์การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขมีกำลังของ อสม. ร่วมป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนกโดยเฝ้าระวังทั้งในคนและในสัตว์ปีก โดยอสม.จะกระจายการดูแลรับผิดชอบคนละ 10 หลังคาเรือน โดยตลอดช่วง 60 วันอันตรายนี้ อสม.จะเป็นผู้สังเกตคนในครอบครัวหรือชุมชนเดียวกัน โดยเดินเคาะประตูบ้านทุกวัน เพื่อซักถามอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ ไอ เจ็บคอ เป็นต้น และหากมีคนป่วย ก็จะทำการซักประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย หรือสัมผัสคนเป็นหวัดหรือปอดบวม หากพบผู้มีอาการเหล่านี้ จะแจ้งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบ และพาไปรับการตรวจรักษาในโรงพยาบาลทันที นายแพทย์บุญชัย กล่าวอีกว่า สำหรับการป้องกันการติดเชื้อจากสัตว์ปีก หากพบสัตว์ปีกตาย ขอให้ถือว่าเป็นสัญญานของโรคไข้หวัดนก ห้ามนำไปขายหรือนำไปให้สัตว์อื่นกินอย่างเด็ดขาด ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรืออสม. ทันที ไม่ว่าจะตายกี่ตัวก็ตาม และในการทำลายซากสัตว์ต้องทำอย่างถูกวิธี โดยสวมถุงมือยางหรือถุงพลาสติกหนาๆขณะจับซากสัตว์ ให้เก็บซากสัตว์ใส่ถุงพลาสติกแล้วรัดปากถุงให้แน่น นำไปเผาในเตาเผาหรือหลุม หรือฝังลึกไม่น้อยกว่าครึ่งเมตร โรยปูนขาวหรือราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อแล้วโกยดินกลบทับให้แน่น ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณที่เลี้ยงสัตว์ปีกตาย และล้างทำความสะอาดด้วยน้ำผงซักฟอก ทั้งนี้ในการป้องกันไข้หวัดนกสำหรับประชาชนทั่วไป ให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อนแล้วและสะอาด ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆโดยเฉพาะหลังจากสัมผัสไก่และสัตว์ปีก ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ ใช้ผ้าปิดปากจมูกเวลาไอ จาม หรือให้สวมหน้ากากอนามัยเวลาเป็นหวัด นอกจากนี้ให้รักษาความสะอาดร่างกาย เครื่องใช้ และบริเวณบ้านเรือนให้สะอาด


   
   


View 8    25/01/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ