ปลัดกระทรวงสาธารณสุขชี้เหตุเสียชีวิตของตำรวจที่จังหวัดอำนาจเจริญ เมื่อ 4 มกราคม 2553 เกิดจากเชื้อวิบริโอ ไม่ใช่เชื้อไข้กาฬหลังแอ่น ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียคล้ายเชื้ออหิวาตกโรค เน้นย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด เร่งประชาสัมพันธ์เตือนประชาชน เลิกกินอาหารดิบหรืออาหารสุกๆดิบๆ ทั้งเนื้อสัตว์ อาหารทะเล โดยเฉพาะเมนูลวก เช่นหอยแครงลวก ต้องลวกในน้ำเดือดนาน 2 นาที เตือนผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง อาทิ โรคตับ โรคพิษสุราเรื้อรัง ต้องระวัง เพราะอาจทำให้เกิดอาการรุนแรง ช็อค เสียชีวิตได้ จากกรณีที่มีข่าวดาบตำรวจวัย 51 ปี ประจำสื่อสารศูนย์วิทยุมิ่งเมือง สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ เสียชีวิตเมื่อวันที่ วันที่ 4 มกราคม 2553 เวลา 21.00 น. โดยในเบื้องต้นแพทย์สงสัยว่าผู้เสียชีวิตจะเสียชีวิตจากโรคไข้กาฬหลังแอ่น จึงได้ห่อศพไว้อย่างมิดชิด กำชับไม่ให้ญาติหรือผู้ใดเปิดดูศพ และกำชับให้สถานีตำรวจทำความสะอาดใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ โดยเฉพาะที่ห้องขังบนโรงพัก รวมทั้งที่ ศูนย์วิทยุมิ่งเมือง และสั่งให้ตำรวจที่ใกล้ชิดผู้เสียชีวิตทุกคน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่โรงพยาบาลอำนาจเจริญ นั้น ความคืบหน้าในเรื่องนี้ นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับรายงานผลการสอบสวนสาเหตุการเสียชีวิตของดาบตำรวจรายดังกล่าวจากโรงพยาบาลอำนาจเจริญ ผลการตรวจเพาะเชื้อจากตัวอย่างเลือดเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2553 พบว่า ติดเชื้อวิบริโอ (Vibrio) ไม่ใช่เชื้อไข้กาฬหลังแอ่นตามที่เป็นข่าว ทั้งนี้ยังต้องรอการยืนยันสายพันธุ์จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ประมาณ 1 สัปดาห์ ว่าเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดโรคอหิวาตกโรคหรือไม่ นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวว่า เชื้อวิบริโอมีหลายสายพันธุ์ เช่น วิบริโอ คลอเรลลา(Vibrio Cholera) ที่ทำให้เกิดโรคอหิวาตกโรคและวิบริโอ วัลนิฟิคัส (Vibrio Vulnificus) เชื้อทั้ง 2 ชนิดนี้เกิดจากการกินอาหารสุกๆดิบๆ โดยเฉพาะอาหารทะเล เมนูยอดนิยมคือหอยแครงลวก หอยนางรม ซึ่งจะต้องทำให้สุกสนิท ซึ่งเชื้อนี้ตายง่ายเมื่อถูกความร้อน ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด โดยเฉพาะแนวชายทะเลทั้งหมด ให้ประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนประชาชนให้ป้องกันโรคทางเดินอาหาร โดยยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและภายหลังเข้าห้องส้วมทุกครั้ง ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่าเชื้อ วิบริโอ วัลนิฟิคัสไม่ใช่เชื้อโรคใหม่ เชื้อนี้อยู่ในตระกูลเชื้อวิบริโอ ก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร พบเชื้อนี้มากในช่วงฤดูร้อนทุกปี เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ 2 ทาง คือ การกินอาหารทะเลดิบ หรือดิบๆ สุกๆ โดยเฉพาะพวกหอยต่างๆ เช่น หอยนางรม หอยแครง และเข้าทางบาดแผล โดยจะทำให้เกิดอาการโลหิตเป็นพิษหลังติดเชื้อภายในเวลา 12-72 ชั่วโมง เฉลี่ย 16 ชั่วโมง และทำให้แผลติดเชื้ออักเสบภายใน 4 ชั่วโมง ถึง 4 วัน เฉลี่ย 12 ชั่วโมง พบอัตราการป่วยตายสูงถึงร้อยละ 75 มีโอกาสรอดชีวิตเพียงร้อยละ 15 การป้องกันที่ดีที่สุด ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารทะเลดิบทุกชนิด ต้องทำให้สุกก่อนจะรับประทาน โดยต้องลวกหรือต้มในน้ำเดือดพล่านนาน 1-2 นาที หากอบจะต้องใช้เวลานาน 5 นาที ถ้านึ่งต้องใช้เวลานาน 7 นาที และหากมีบาดแผล ไม่ควรสัมผัสน้ำทะเลหรือน้ำกร่อย โดยเฉพาะผู้ที่มีอาชีพแกะเปลือกหอยจะต้องสวมถุงมือยางหนาๆ ป้องกันเปลือกหอยบาดด้วย ************************************** 8 มกราคม 2553


   
   


View 12    08/01/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ