กระทรวงสาธารณสุข ชี้อนาคตสุขภาพของวัยรุ่นไทยน่าห่วง โดยเฉพาะผู้ชาย ผลการสำรวจนักเรียนชั้นม.2 ม.4 และปวช.ปี 2 จากโรงเรียนใน 21 จังหวัดทั่วประเทศล่าสุด พบมีพฤติกรรมเสี่ยงเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อสูง เริ่มสูบบุหรี่ ดื่มเหล้าเมื่ออายุ 13 ปี กินผักผลไม้สดน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ใช้วิธีควบคุมน้ำหนักที่ผิดๆ เช่นกินยาระบาย กินยาลดน้ำหนัก โดยร้อยละ 30 เคยสูบบุหรี่มาแล้วรวมกว่า 100 มวน
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ทิศทางการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขในแผนพัฒนาสุขภาพปีงบประมาณ 2553 จะเร่งรัดให้ทุกจังหวัด ปรับแก้พฤติกรรมสุขภาพของประชาชนไทยทั่วประเทศเพื่อป้องกันโรค โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อ ซึ่งมีแนวโน้มคุกคามสุขภาพคนไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้มอบหมายให้สำนักระบาดวิทยา ดำเนินการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ในปี 2551 เน้นกลุ่มวัยรุ่นที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และ 4 และระดับอาชีวศึกษาปีที่ 2 โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์มือถือ ซึ่งวัยรุ่นส่วนมากใช้ มีความสะดวกมาก เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐาน
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ผลการสำรวจนักเรียนกลุ่มดังกล่าว จากโรงเรียนใน 21 จังหวัดทั่วประเทศ รวมจำนวน 43,693 คน เป็นชาย 20,213 คน หญิง 23,480 คน อายุเฉลี่ย 13-17 ปี โดยพฤติกรรมที่สำรวจครั้งนี้ มุ่ง 5 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อ ได้แก่ การใช้สารเสพติด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การป้องกันอุบัติเหตุจราจร การกินอาหารและการควบคุมน้ำหนักตัว การแสดงความรุนแรง และการออกกำลังกาย ปรากฏว่าวัยรุ่นกินอาหารไม่ถูกต้อง โดยกินผักผลไม้สดน้อยกว่ามาตรฐานคือวันละ 400 -600 กรัม มากถึงร้อยละ 59 และยังใช้วิธีควบคุมน้ำตัวผิดๆ เช่น กินยาลดน้ำหนัก กินยาระบาย พบร้อยละ 10 มีวัยรุ่นร้อยละ 51 เคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เฉลี่ยเริ่มดื่มอายุ 13 ปี ส่วนสารเสพติดที่ใช้กันมาก ได้แก่ กัญชา กระท่อมและยาบ้า ส่วนการสูบบุหรี่พบว่าร้อยละ 30 เคยสูบบุหรี่รวมแล้วมากกว่า 100 มวน สูบทุกวันร้อยละ 28 เริ่มสูบอายุเฉลี่ย
ในเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุ พบว่าวัยรุ่นยังปฏิบัติน้อยมาก โดยใส่หมวกกันน็อคเมื่อขับขี่จักรยานยนต์ทุกครั้งเฉลี่ยเพียงร้อยละ 15 ไม่เคยคาดเข็มขัดนิรภัยเลยร้อยละ 15 และร้อยละ 14 ยังดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับขี่รถ โดยร้อยละ 39 เคยบาดเจ็บต้องเข้าโรงพยาบาลมาแล้ว เรื่องการแสดงความรุนแรงพบร้อยละ 19 เคยพกอาวุธ ส่วนพฤติกรรมการออกกำลังกาย พบว่าร้อยละ 26 ยังออกไม่เพียงพอต่อการมีสุขภาพดี ผู้ชายมีพฤติกรรมเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิงเกือบทุกรายการ
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า จากผลการสำรวจครั้งนี้ คาดทำนายได้ว่า หากวัยรุ่นไทยยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ อาจทำให้อายุสั้น เสียชีวิตเร็ว หรือเกิดความพิการจากการป่วยหรือจากอุบัติเหตุจราจร โดยกระทรวงสาธารณสุขจะประสานความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อร่วมกันสร้างค่านิยมใหม่แก่วัยรุ่นไทย ให้ห่างไกลการใช้สารเสพติด ของมึนเมา เพิ่มกินผักไม้สด ออกกำลังกาย โดยแก้ไขอย่างจริงจัง
ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกระบุสาเหตุการเจ็บป่วยของประชาชนทั่วโลกขณะนี้มาจาก 4 ปัจจัย ได้แก่ การบริโภคอาหาร การใช้สารเสพติด การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการขาดการออกกำลังกาย มีงานวิจัยทั่วโลกยืนยันตรงกันว่าการกินผักผลไม้สดในปริมาณที่พอเพียงจะป้องกันได้หลายโรค เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็งกระเพาะอาหารและลำไส้ โรคเส้นเลือดสมองแตก
********************************** 3 มกราคม 2553
View 15
03/01/2553
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ