สาธารณสุข เผยผลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ในปี พ.ศ.2551 พบมีทั้งหมดกว่า 21,639 ราย เสียชีวิต 493 ราย โดยมีสาเหตุจากอุบัติเหตุการขนส่งสูงอันดับ 1 ต้นเหตุมาจากเมาแล้วขับรถจักรยานยนต์ชน และร้อยละ 96 ไม่สวมหมวกนิรภัย เสนอให้ออกกฎหมายห้ามเด็กต่ำกว่า 15 ปีขับขี่รถทุกชนิด
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการเฝ้าระวังปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ประจำจังหวัด ที่เป็นเครือข่ายการเฝ้าระวังการบาดเจ็บระดับชาติ 25 แห่งกระจายทั่วทุกภาค ในปี 2551 พบเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ได้รับบาดเจ็บรุนแรงเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล 21,639 ราย เสียชีวิต 493 ราย โดยต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลจำนวน 18,188 ราย
สาเหตุการบาดเจ็บรุนแรงที่พบสูงสุดได้แก่ อุบัติเหตุการขนส่ง บาดเจ็บ 7,932 ราย หรือประมาณ 1 ใน 3 ของผู้บาดเจ็บทั้งหมด เป็นชายมากกว่าหญิงในอัตรา 2 ต่อ 1 รองลงมาคือการพลัดตกหกล้ม 5,799 ราย ถูกสิ่งของหล่นทับ 4,193 ราย ถูกสัตว์ทำร้าย 782 ราย และถูกพิษจากพืชหรือสัตว์ 772 ราย ส่วนการบาดเจ็บรุนแรงที่ทำให้เสียชีวิตสูงที่สุด ได้แก่ อุบัติเหตุการขนส่ง เสียชีวิตทั้งหมด 247 ราย หรือครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตทั้งหมด รองลงมาได้แก่ จมน้ำ 131 ราย ที่เหลือเกิดจาการพลัดตกหกล้ม ถูกสิ่งของหล่นทับ และถูกทำร้าย กลุ่มอายุที่บาดเจ็บจากอุบัติเหตุขนส่ง คืออายุ10-14 ปี ร้อยละ 58
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า สำหรับยานพาหนะที่ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงที่สุดได้แก่ รถจักรยานยนต์ร้อยละ 71 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดมักเกิดในช่วงเย็น และสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรง ได้แก่ การไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกัน โดยพบว่าผู้บาดเจ็บ ทั้งที่เป็นผู้ขับขี่และผู้นั่งซ้อนท้าย ร้อยละ 96 ไม่สวมหมวกนิรภัย ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยป้องกันอันตรายที่ศีรษะได้ และยังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 95
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่ออีกว่า จากข้อมูลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าทุกหน่วยงานควรร่วมมือกันป้องกันปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุการขนส่งในวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งกำลังเป็นวัยที่คึกคะนอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขับขี่รถจักรยานยนต์และรถยนต์ทุกชนิด และบังคับเข้มงวดให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และผู้นั่งซ้อนท้ายสวมหมวกนิรภัยเป็นประจำ ให้ติดเป็นนิสัย และคาดสายรัดคางเพื่อป้องกันหมวกนิรภัยหลุดจากศีรษะด้วย ไม่ใช่สวมแค่เพราะกลัวเจ้าหน้าที่ตำรวจเห็น ซึ่งไม่ได้ประโยชน์ในการป้องกันอันตรายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ ไม่ชักจูงและจำหน่าย สุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
******************************************* 1 มกราคม 2553
View 14
01/01/2553
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ