กระทรวงสาธารณสุข จับมือภาคีเครือข่ายองค์กรงดเหล้า หารือนักกฎหมายและนักโฆษณา เพื่อจัดทำคู่มือการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใช้เป็นแนวทางให้ผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปฏิบัติ ง่ายต่อความเข้าใจ ป้องกันการโฆษณาผิดกฎหมายควบคุมเหล้า พ.ศ.2551 วันนี้ (6 พฤศจิกายน 2552) ที่ อาคารจัตุรัสจามจุรี กทม. นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และตัวแทนเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ประชุมผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านกฎหมายและนิเทศศาสตร์ พิจารณาจัดทำคู่มือการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในมาตรา 32 ว่าด้วยการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ง่ายต่อการเข้าใจและการปฏิบัติ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทราบ ป้องกันการโฆษณาผิดกฎหมาย นายมานิตกล่าวว่า ตามมาตรา 32 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งใช้มาได้ประมาณ 1 ปี 9 เดือน กำหนดห้ามมิให้มีการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใด ๆ มีการโฆษณาได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่ปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏของภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง นายมานิตกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาพบว่า ยังมีการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว ข้อมูลจากศูนย์รับแจ้งเรื่องร้องเรียนผู้กระทำผิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 13 แห่งทั่วประเทศ พบประชาชนร้องเรียนเกี่ยวกับการโฆษณาผิดกฎหมาย มากเป็นอันดับ 1 รวมทั้ง ผลสำรวจของเอแบคโพลล์ ร่วมกับศูนย์วิจัยปัญหาสุรา เรื่องการรับรู้การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่อโทรทัศน์ หลังจากที่ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้ พบว่า มีการพบเห็นโฆษณา ทางสื่อโทรทัศน์ร้อยละ 56 ป้ายกลางแจ้งร้อยละ 16 และสื่อสิ่งพิมพ์ร้อยละ 14 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังไม่เข้าใจในกฎหมายมาตรานี้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ การตัดสินว่า โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบใดทำได้ แบบใดผิดกฎหมายหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน อาจจะเข้าใจยากในทางปฏิบัติ ไม่มีแนวทางตัวอย่างที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ซึ่งการประชุมครั้งนี้ จะได้ข้อสรุปจากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งทางด้านกฎหมายและด้านการโฆษณา เพื่อจัดทำคู่มือที่เข้าใจง่าย มีกรณีตัวอย่าง สำหรับประชาชนทั่วไป รวมทั้งผู้ประกอบการ สามารถนำไปปรับปรุงแก้ไข เพราะความผิดฐานโฆษณามีโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่สำคัญ มีการปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 50,000 บาท จนกว่าจะแก้ไขให้ถูกต้อง ***************************************** 6 พฤศจิกายน 2552


   
   


View 13    06/11/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ