รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายทุกจังหวัดคุมเข้มไข้เลือดออก ตั้งเป้าปี 2552 ควบคุม ป้องกันให้ได้ ร้อยละ 80 ใน 29 จังหวัด ขอความร่วมมือ อสม.ช่วยกระตุ้นเตือนชาวบ้านให้กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเป็นประจำทุก 7 วัน และป้องกันไม่ให้ยุงกัด ซึ่งป้องกันได้ทั้งไข้เลือดออกและไข้ปวดข้อยุงลาย นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางไปอำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร เพื่อพบกับอสม. อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร เมื่อเช้าวันนี้ (5 มิถุนายน 2552) ว่า ได้ขอความร่วมมือ อสม.เร่งควบคุมป้องกันโรคที่กำลังระบาดในฤดูฝน 2 โรค คือ โรคไข้เลือดออกและโรคปวดข้อยุงลาย ซึ่งมีสาเหตุมาจากถูกยุงลายบ้านและยุงลายสวนกัด โดยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกปีนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม - 30 พฤษภาคม 2552 มีผู้ป่วยทั่วประเทศ 12,320 ราย เสียชีวิต 14 ราย เมื่อเปรียบเทียบในกลุ่มประชากรทุก 1 แสนคน จะมีคนป่วยไข้เลือดออกเกือบ 20 คน เมื่อแยกพื้นที่การระบาดพบว่า ภาคกลางพบผู้ป่วยมากที่สุด 5,310 ราย เสียชีวิต 8 ราย รองลงมาคือภาคใต้ พบผู้ป่วย 3,457 ราย เสียชีวิต 3 ราย ภาคเหนือพบผู้ป่วย 1,988 ราย เสียชีวิต 3 ราย และภาคอีสานพบผู้ป่วย 1,565 ราย ไม่มีเสียชีวิต ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2551 ในช่วงเวลาเดียวกัน ลดลงร้อยละ 27 ทั้งนี้ในปี 2552 กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งเป้าหมายที่จะดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกให้ได้ร้อยละ 80 ใน 29 จังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงเอื้อต่อการระบาด เช่น มีชุมชนหนาแน่น แหล่งอุตสาหกรรม ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ระยอง สมุทรปราการ นครนายก ราชบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร บุรีรัมย์ สุรินทร์ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สกลนคร นครสวรรค์ พิจิตร ลำพูน สุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง พังงา กระบี่ สงขลา นราธิวาส และกรุงเทพมหานคร และในปี 2554 จะดำเนินการให้ได้ 100% นายมานิต กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูฝน เป็นฤดูที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกสูงสุด ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานทุกฝ่าย ทั้งกระทรวงสาธารณสุข จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนทุกครัวเรือน ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง พร้อมเพรียงกันทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ได้ให้อสม. ทั่วประเทศเป็นกำลังสำคัญรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่ใช้หลัก 4 ป. ซึ่งเป็นวิธีกำจัดยุงลายที่สะดวกและให้ผลดีที่สุด คือ ปิดฝาโอ่งให้สนิท เปลี่ยนน้ำในถังและแจกันทุก 7 วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำในอ่างเลี้ยงบัว ไม้น้ำ และปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้สะอาด เพียงเท่านี้ก็จะไม่มียุงลายเกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องป้องกันไม่ให้ยุงกัด ด้วยการนอนในมุ้ง ใช้โลชั่นทากันยุง เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการป้องกันทั้งโรคไข้เลือดออกและโรคไข้ปวดข้อยุงลายได้ด้วย พร้อมกันนี้ ได้ให้สถานบริการสาธารณสุข รวมทั้งคลินิกเอกชน และร้านขายยาทุกแห่ง ร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังทั้งโรคไข้เลือดออกและโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หากพบผู้ที่มีอาการไข้ ปวดข้อ หรือมีผื่นขึ้น ให้รีบตรวจอย่างละเอียด เพื่อให้การดูแลและป้องกัน พร้อมให้แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว เพิ่มเครือข่ายในการเฝ้าระวัง และควบคุมป้องกันโรค ซึ่งคาดว่าจะทำให้การป้องกันและควบคุมโรคมีประสิทธิภาพสูงขึ้น นายมานิต กล่าวในที่สุด *********************************5 มิถุนายน 2552


   
   


View 15    05/06/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ