กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนระวังโรคติดต่อที่มาจากอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วม เนื่องจากมีสภาพความเปียกชื้นอยู่เดิมแล้ว โรคที่สำคัญได้แก่ โรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม ไข้สุกใส ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม ซึ่งมีเชื้อไวรัสเป็นต่อก่อโรค ตั้งแต่ต้นปีมานี้พบป่วยจาก 5 โรคนี้แล้ว 162,589 ราย เสียชีวิต 541 ราย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวประชาชนมีโอกาสเสี่ยงจากความหนาวเย็น โดยเฉพาะหากพื้นที่ที่กำลังมีน้ำท่วมขังขณะนี้ ต้องเพิ่มความระมัดระวังดูแลสุขภาพเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากมีสภาพความเปียกชื้นสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ทั้งนี้จากการวิเคราะห์สถานการณ์โรคของสำนักระบาดวิทยา พบว่า โรคในฤดูหนาวส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อในกลุ่มไวรัส ที่สำคัญได้แก่ โรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม ไข้สุกใส ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม ตั้งแต่ต้นปี 2549 จนถึงขณะนี้ พบผู้ป่วยจาก6 โรคดังกล่าวแล้ว 162,589 ราย เสียชีวิต 541 ราย ประกอบด้วยโรคหัด 2,464 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โรคสุกใส 40,112 ราย เสียชีวิต 3 ราย โรคคางทูม 5,536 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โรคปอดบวม 101,693 ราย เสียชีวิต 536 ราย และโรคไข้หวัดใหญ่ 12,780 ราย เสียชีวิต 2 ราย ได้ให้กรมควบคุมโรคเฝ้าระวังในพื้นที่น้ำท่วมขังเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากหากมีคนป่วยอาจจะแพร่ติดกันได้ง่าย เพราะประชาชนส่วนใหญ่มักอยู่รวมกันในบ้านเรือน ด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคหัด เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อทางลมหายใจ มีอาการไข้สูง ไอมาก ตาแดง หรือน้ำมูกไหล และมีผื่นแดงตามตัว โดยขณะที่ผื่นขึ้นนั้นยังมีไข้สูงอยู่ โดยพบผู้ป่วยเพิ่มสูงมากในเดือนมกราคม จนถึงเดือนมีนาคมทุกปี โรคนี้มักพบในเด็กวัยอายุต่ำกว่า 15 ปี พบบ่อยในเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกัน พบผู้ป่วยมากในภาคกลาง มากที่สุดที่กรุงเทพมหานคร 228 ราย รองลงมาที่จังหวัด กาญจนบุรี 112 ราย ในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม พบจังหวัดอยุธยา มีผู้ป่วยมากที่สุด 50 ราย โรคสุกใส เกิดจากเชื้อไวรัส โรคนี้ติดต่อได้ค่อนข้างง่ายจากการสัมผัส แต่ถ้าคนที่เคยป่วยแล้ว จะมีภูมิต้านทานตลอดชีวิต พบผู้ป่วยมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 14,450 ราย เสียชีวิต 1 ราย มากที่สุดที่ จังหวัดนครราชสีมา 2,426 ราย ในจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม มีรายงานโรคสุกใสมากที่สุด คือ จังหวัดนครสวรรค์ 1,016 ราย โรคนี้มีอาการไข้สูงปานกลาง มีตุ่มใสขึ้นที่หน้า ลำตัว แขน ขา โดยเฉพาะเด็กเล็กหากตุ่มขึ้นในช่องปาก อาจทำให้ดูดนม หรือรับประทานอาหารได้น้อย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการเล็กน้อย จะหายจากอาการป่วยในเวลาไม่นานและมักจะไม่มีโรคแทรกซ้อน นายแพทย์ธวัชกล่าวต่อว่า สำหรับโรคคางทูม เกิดจากเชื้อไวรัส มีอาการคือมีไข้ปานกลาง ต่อมน้ำเหลืองหน้าบริเวณกกหูโต และมักโตทั้ง 2 ข้าง พบมากที่สุดในฤดูหนาว ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมถึงมีนาคม โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบผู้ป่วยมากที่สุด จำนวน 2,242 ราย มากที่สุดที่จังหวัดอุดรธานี 188 ราย ในจังหวัดที่มีน้ำท่วม พบผู้ป่วยมากที่สุดที่จังหวัดนครสวรรค์ 70 ราย โรคนี้พบมากที่สุดในกลุ่มเด็กอายุ 5 - 9 ปี เป็นแล้วอาการมักจะไม่รุนแรง จะหายเองภายใน 2 สัปดาห์ แต่ถ้าพบโรคนี้ในเด็กโต อาจจะเกิดภาวะข้างเคียงได้ คือ ลูกอัณฑะอักเสบ การป้องกันโรคนี้ให้แยกผ้าเช็ดตัวผ้าห่มและผ้าเช็ดหน้าห้ามใช้กับผู้ป่วย โรคที่พบต่อมาก็คือปอดบวม มีรายงานผู้ป่วยมากที่สุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 31,175 ราย เสียชีวิต 27 ราย มากที่สุดที่จังหวัดนครราชสีมา 4,205 ราย เสียชีวิต 19 ราย ส่วนในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมพบผู้ป่วยมากที่สุดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 2,186 ราย เสียชีวิต 33 ราย รองลงมาคือ จังหวัดนครสวรรค์ 1,916 ราย เสียชีวิต 55 ราย สำหรับโรคปอดบวมนี้ เกิดได้ทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย แต่ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส อาการที่พบได้แก่ ไข้ ไอ เสมหะมาก แน่นหน้าอกเหมือนหายใจไม่ออก หอบ หายใจเร็ว มักพบตามหลังไข้หวัดเรื้อรังหรือรุนแรง หรือโรคหลอดลมอักเสบ พบบ่อยในกลุ่มที่เป็นโรคหอบหืด กลุ่มอายุที่พบมาก คือ อายุต่ำกว่า 10 ปี โดยเฉพาะเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ จะต้องดูแลเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าคนกลุ่มอื่น หากป่วยเป็นไข้หวัดหรือหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หลังจากพบแพทย์ในเบื้องต้นแล้ว หากอาการยังไม่ทุเลา ก็ควรไปพบแพทย์ซ้ำ เพื่อติดตามการรักษาต่อไป การดูแลอื่น ๆ ได้แก่ การใส่เสื้อผ้าเพื่อสร้างความอบอุ่นร่างกาย การดื่มน้ำอุ่น การอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่แออัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการหายใจรับเชื้อเข้าไป นายแพทย์ธวัช กล่าวต่อไปว่า สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัส มีอาการไข้สูง ปวดศีรษะมาก ปวดเมื่อยตามตัวมาก อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน มักพบในผู้ใหญ่วัยทำงาน และเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ในปีนี้พบผู้ป่วยสูงสุดในภาคกลาง จำนวน 5,048 ราย เสียชีวิต 1 ราย มากที่สุดที่กรุงเทพมหานคร 586 ราย ในจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมพบผู้ป่วยมากที่สุดที่จังหวัดจันทบุรี 438 ราย รองลงมาได้แก่ จังหวัดสุโขทัย 302 ราย ในการป้องกันโรคนี้ ประชาชนควรรักษาร่างกายให้แข็งแรงและสวมเสื้อผ้าให้ความอบอุ่นร่างกายอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม ทั้งโรคปอดบวมและไข้หวัดใหญ่ นั้น จะต้องมีการเฝ้าระวังและดูแลเป็นพิเศษในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากเป็นโรคที่มีที่มีอาการสำคัญของโรคที่คล้ายและใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดนก และอากาศหนาวที่เริ่มเข้ามาก็เป็นปัจจัยเสริมด้านสิ่งแวดล้อม อาจทำให้เชื้อไวรัสไข้หวัดนกแพร่ระบาดได้ นายแพทย์ธวัชกล่าว ********************************** 3 ธันวาคม 2549


   
   


View 11    03/12/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ