รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัยจาก 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกตะวันตก พร้อมเรียกร้องทุกฝ่ายทำวิจัยด้านสุขภาพอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยเน้นมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์ควบคู่มาตรฐานทางคุณธรรม จริยธรรม เพื่อคุ้มครองประชาชน
เช้าวันนี้ (29 พฤศจิกายน 2549) ที่โรงแรมกรุงศรี ริเวอร์ จ.พระนครศรีอยุธยา นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมนานาชาติ เรื่องการวิจัยทางสุขภาพที่โปร่งใสตรวจสอบได้ตามหลักจริยธรรมเพื่อคุ้มครองมนุษย์ ครั้งที่ 6 จัดโดย ชมรมจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกตะวันตก โดยมีผู้เกี่ยวข้องกับการทำวิจัยด้านสุขภาพ ได้แก่ คณะกรรมการด้านจริยธรรม หน่วยงานด้านสาธารณสุขระดับประเทศ นักวิจัยจากสถาบันต่างๆ บริษัทผู้ผลิตยา และองค์กรผู้ป่วย จากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกตะวันตก จำนวน 11 ประเทศ เข้าร่วมประชุมประมาณ 180 คน
นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ขณะนี้ประเด็นของสุขภาพ เป็นเรื่องที่กำลังอยู่ในความสนใจของประชาชนอย่างมาก ขณะเดียวกันความรู้ด้านสุขภาพก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพหลากหลายประเภทออกมาสู่ท้องตลาด โดยอ้างอิงพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์หรือการวิจัยด้านสุขภาพ อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์มาตรฐานของการวิจัยในปัจจุบันนั้น ยังไม่มีความชัดเจนในประเด็นของคุณธรรม จริยธรรม ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ซึ่งอาจมีผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่วิจัย และบางกรณีผู้ที่เป็นอาสาสมัครในการวิจัย อาจไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่
นายแพทย์มงคล กล่าวต่อว่า แม้ว่าจะมีข้อกำหนดระหว่างประเทศเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการวิจัยด้านสุขภาพ รวมทั้งมีกฎหมายด้านสุขภาพของแต่ละประเทศบังคับใช้อยู่แล้ว แต่ก็ไม่สามารถรับรองได้ว่าประชาชนจะได้รับความคุ้มครองจากการวิจัยอย่างเต็มที่ ดังนั้น หากการวิจัยด้านสุขภาพนั้นๆ ได้ยึดถือหลักคุณธรรม จริยธรรม เป็นแนวทางพื้นฐาน และเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบพิสูจน์ได้ทุกขั้นตอนของการทำวิจัย ก็จะช่วยยกระดับให้งานวิจัยด้านสุขภาพนั้น เป็นงานวิจัยที่มีมาตรฐานสูงทั้งด้านวิทยาศาสตร์และคุณธรรม จริยธรรมได้
ด้านนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในฐานะประธานชมรมจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกตะวันตก กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นให้มีการนำเสนอและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานวิจัยด้านสุขภาพที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัย ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ในการดำเนินงานวิจัยให้บรรลุผลสำเร็จ โดยมีมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์และอยู่ในกรอบของหลักคุณธรรม จริยธรรม เพื่อคุ้มครองประชาชนทั้งที่เป็นกลุ่มวิจัย เป็นผู้ใช้ผลประโยชน์จากการวิจัย ตลอดจนชุมชนนั้นๆ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นของไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
พฤศจิกายน8/4 ***************************** 29 พฤศจิกายน 2549
View 17
29/11/2549
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ