ไทย เปิดเวทีให้นานาชาติร่วมแก้ปัญหาความรุนแรงต่อสตรี ชี้ทุก 15 นาที มีผู้หญิงถูกข่มขืน 20 คน ร้อยละ 40 เป็นเด็กอายุไม่ถึง 15 ปี ประเทศไทย โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จับมือสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การป้องกันและแก้ไขความรุนแรงต่อสตรี เน้นการดำเนินงานของศูนย์ช่วยเหลือเด็กและสตรีในภาวะวิกฤติจากความรุนแรง หรือศูนย์พึ่งได้ มีผู้แทนจากประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ เข้าร่วมประชุม ในวันที่ 28-30 พฤศจิกายน 2549 ณ โรงแรมโซฟิเทล ราชา ออร์คิด จ.ขอนแก่น พญ.ทิพย์วดี บำเพ็ญบุญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลัง เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขความรุนแรงต่อสตรีโดยใช้มุมมองมิติหญิงชาย (ASEAN Regional Workshop on Gender Sensitive and Coordinated VAW ) โดยเน้นการดำเนินการของศูนย์ช่วยเหลือเด็กและสตรีในภาวะวิกฤตความรุนแรง หรือศูนย์พึ่งได้ (one stop crisis center ) ว่า ทั่วโลกขณะนี้สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มมากขึ้นเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพเป็นอย่างมาก จากรายงานประมาณการจากธนาคารโลก แจ้งว่า 1 ใน 5 ของผู้หญิงทั่วโลกเคยถูกทำร้ายร่างกาย และทำร้ายทางเพศ โดยทุก 15 นาที จะมีผู้หญิงถูกข่มขืน 20 คน และร้อยละ 40 เป็นเด็กอายุไม่ถึง 15 ปี ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย ข้อมูลรายงานของศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2549 พบเด็กและสตรีถูกทำร้าย 13,550 ราย เฉลี่ย 37 รายต่อวัน โดยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ถูกกระทำเป็นเด็กผู้หญิง และความรุนแรงที่กระทำมากที่สุด ได้แก่ การทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศ ถึงร้อยละ 95 ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำรุนแรง โดยได้ตั้งศูนย์พึ่งได้ ((one stop crisis center: OSCC ) เพื่อเป็นศูนย์บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงเบ็ดเสร็จที่เดียวในโรงพยาบาลต่างๆ ทุกจังหวัด รวมทั้งโรงพยาบาลชุมชน จำนวน 104 แห่ง เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ใกล้บ้านขึ้น ซึ่งการช่วยเหลือด้านรักษาพยาบาล และคำปรึกษาแก่ผู้ที่ถูกกระทำรุนแรงของประเทศไทย ได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิกอาเซียนว่าเป็นศูนย์ตัวอย่างที่ดี สามารถนำไปเป็นแบบอย่างในการพัฒนาต่อไป ทั้งนี้ประชาชนสามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่เบอร์ 1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง โดยการประชุมในครั้งนี้ ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นผู้แทนสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้พูดคุย ปรึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เรื่องความรุนแรงในครอบครัว เด็ก สตรี หาทางให้เกิดความเสมอภาคทางเพศ รวมทั้งหากลยุทธ์แนวทางการดำเนินการในเรื่องเกี่ยวกับประเด็นทางเพศ การลดความรุนแรงในเด็ก สตรี ครอบครัว ในประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ เพื่อจะกำหนดแนวทางการติดตามกิจกรรมการดำเนินงานของประเทศสมาชิกอาเซียนต่อไป ******************************************** 28 พฤศจิกายน 2549


   
   


View 20    28/11/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ