กระทรวงสาธารณสุข เป็นห่วงสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมคนอ้วน เพราะสถิติประชากรที่มีภาวะโภชนาการเกินพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กวัยอนุบาลพบอ้วนทุก 1 ใน 10 คน เร่งหาทางป้องกัน เริ่มตั้งแต่อยู่ในท้องแม่และหลังคลอด นำร่องศึกษาทดลองหารูปแบบในโรงพยาบาล 3 แห่ง เพื่อขยายให้คลอบคลุมทั้งประเทศ ชี้ผลร้ายการไม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และหย่านมแม่เร็ว ก่อโรคอ้วนตั้งแต่ยังแบเบาะ
นายสง่า ดามาพงษ์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้จัดการแผนอาหารโภชนาการเชิงรุก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า การควบคุมและป้องกันโรคอ้วนในเด็กวัยเรียน อาจสายเกินไป และเป็นการยากต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารและออกกำลังกาย ดังนั้นจึงควรมุ่งให้ความสนใจในการป้องกันไม่ให้เด็กอ้วนตั้งแต่ตอนเด็กอยู่ในท้องแม่ โดยการสร้างความตระหนักและให้ความรู้เรื่องโภชนาการหรือให้ความรู้ด้านการกินอาหารที่ถูกหลักโภชนาการแก่แม่ในช่วงมาฝากครรภ์ และทำอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งคลอดออกมาเป็นทารก โดยส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจนถึง 6 เดือน แล้วจึงค่อยให้อาหารอื่นควบคู่กับการให้กินนมแม่ให้นานถึง 2 ปี หรือนานกว่านั้น
การไม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่และหย่านมแม่เร็ว โอกาสที่ลูกจะกินขนมหวานและน้ำอัดลม ก็เร็วตามมาด้วย ผลร้ายตามมาจะทำให้เด็กอ้วนตั้งแต่ยังเป็นทารก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าอ้วนตั้งแต่ยังแบเบาะ ฉะนั้นในช่วงที่แม่พาลูกมาตรวจสุขภาพและพัฒนาการที่คลินิกเด็กดี ก็จะต้องให้ความรู้ด้านโภชนาการแก่แม่ เน้นให้หลีกเลี่ยงการให้อาหารที่จะทำให้ลูกอ้วน โดยเฉพาะนมรสหวาน น้ำอัดลม และขนมหวาน นายสง่ากล่าว
โฆษกกระทรวงสาธารณสุขกล่าวต่อไปว่า จากการศึกษาภาวะโภชนาการในเด็กไทย อายุ 15 ปี จำนวน 4,814 รายใน 20 จังหวัด โดยทันตแพทย์หญิงสุณี วงศ์คงคาเทพ กรมอนามัย ปรากฏว่ามีเด็กมีภาวะโภชนาการเกิน ร้อยละ 11 และค้นพบพฤติกรรมการกินที่ทำให้เด็กอ้วนที่น่าตกใจ คือ เด็กร้อยละ 75 ดื่มนมรสหวานและนมเปรี้ยวเป็นประจำ ร้อยละ 14 กินอาหารรสหวานเป็นประจำ
นอกจากนี้ จากการสำรวจการบริโภคกลุ่มขนมและเครื่องดื่มในเด็ก พบว่าใน 1 วัน เด็กกินขนมและเครื่องดื่มรวม 23,038 รายการ เฉลี่ยตกกินคนละ 5 รายการต่อวัน ในจำนวนนี้เป็นขนมและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงถึงร้อยละ 62 เฉลี่ยเด็กไทยกินน้ำตาลวันละ 10 ช้อนชาต่อคนต่อวัน ซึ่งปกติไม่ควรกินเกินวันละ 6 ช้อนชา และเด็ก 1 ใน 3 ชอบกินขนมและเครื่องดื่มขณะดูทีวี ในขณะเดียวกันเด็กอีกร้อยละ 50 ไม่กินผัก ทั้งหมดล้วนเป็นพฤติกรรมการเลี้ยงลูกที่ทำให้ลูกอ้วน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นโรคผู้ใหญ่ทำก็ได้
ในการแก้ปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย จึงร่วมมือกับสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยฯ และ สสส. ศึกษาหารูปแบบการจัดบริการแบบบูรณาการ เพื่อป้องกันและควบคุมโรคอ้วนในทารกและเด็กเล็กเริ่มตั้งแต่การฝากครรภ์ในคลินิกฝากครรภ์และคลินิกเด็กดี ที่โรงพยาบาลใน 2 จังหวัด ได้แก่ โรงพยาบาลลพบุรี และโรงพยาบาลชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี และโรงพยาบาลอินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานเพื่อสรุปรูปแบบการควบคุมโรคอ้วนในทารก เด็กเล็ก เพื่อเสนอขับเคลื่อนเป็นนโยบายระดับประเทศต่อไป โฆษกกระทรวงสาธารณสุขกล่าว
********************** 24 พฤศจิกายน 2549
View 16
24/11/2549
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ