องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มอบโล่รางวัลเชิดชูเกียรติ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเป็นผู้พัฒนางานสุขภาพจิตของประเทศไทย ทั้งงานส่งเสริม ป้องกัน รักษาผู้ป่วยทางจิต อย่างน้อย 11 โครงการ อาทิโครงการทูบีนัมเบอร์วัน แก้ไขปัญหายาเสพติดในกลุ่มวัยรุ่น โครงการสร้างสุขด้วยรอยยิ้ม งานอยู่ในระดับแนวหน้าของภูมิภาค นับเป็นปลัดสธ.คนแรกที่ได้รับรางวัลนี้
วันนี้ (9 ธันวาคม 2551) เวลา 11.00 น. นายแพทย์สำลี เปลี่ยนบางช้าง ผู้อำนวยการอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Regional Director for South-East Asia)พร้อมด้วยแพทย์หญิงมอรีน อี.เบอร์ มิงแฮม (Dr.Maureen E.Birmingham) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย มอบโล่รางวัลให้แก่นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเชิดชูเกียรติในฐานะเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ ด้านการส่งเสริมสุขภาพจิตของประเทศไทย เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงระบบบริการงานสุขภาพจิตในกลุ่มของประเทศสมาชิกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุขคนแรกของไทยที่ได้รับรางวัลนี้
ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาค กล่าวว่า ผลงานด้านสุขภาพจิตที่นายแพทย์ปราชญ์ได้ริเริ่มมีอย่างน้อย 10 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพจิต โดยเป็นศูนย์กลางฝึกอบรมบุคลากรด้านสุขภาพจิตให้แก่ 6 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย ภูฎาน อินโดนีเซีย พม่า เนปาล และศรีลังกา 2. เป็นผู้พัฒนาและบูรณาการระบบริการสุขภาพจิตลงสู่ชุมชน โดยมีพระภิกษุเป็นแกนกลาง เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจของประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิต
3.การจัดเครือข่ายบริการสุขภาพจิตในจังหวัดตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงการบำบัดดูแลโดยจิตแพทย์ในโรงพยาบาลประจำจังหวัดหรือโรงพยาบาลศูนย์ 4.จัดตั้งศูนย์วิกฤติสุขภาพจิตในโรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต ให้การดูแลรักษาต่อเนื่อง 5.การค้นหาเด็กที่มีความผิดปกติในการสื่อสาร หรือที่เรียกว่าโรคออทิสติก (Autistic)ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อให้เด็กได้รับการแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ 6.จัดทำโครงการรณรงค์การสร้างสุขสังคมไทยด้วยรอยยิ้ม ( Bright Mood Good Health )
7.เป็นผู้พัฒนาโครงการทูบี นัมเบอร์วัน และมุมเพื่อนใจวัยรุ่น ในพระอุปถัมภ์ของทูลกระหม่อมหญิง อุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เพื่อเบนเข็มไม่ให้เยาวชนไทย ยุ่งเกี่ยวยาเสพติด ขณะนี้มีสมาชิกทั่วประเทศ 29 ล้านกว่าคน 8.การพัฒนาด้านกำลังคนด้านสุขภาพจิต โดยจัดอบรมจิตแพทย์ชุมชน ตั้งแต่พ.ศ.2546 จนถึงขณะนี้มีแพทย์ผ่านการอบรมแล้ว 270 คน และการสนับสนุนการผลิตพยาบาลด้านจิตเวชและจิตวิทยาระดับปริญญาโท ในมหาวิทยาลัย 5 แห่ง เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนจิตแพทย์ ขณะนี้มีผู้จบการศึกษาแล้วกว่า 900 คน
9.ผลักดันรางวัลสุขภาพจิตระดับนานาชาติ ตั้งแต่พ.ศ. 2545 10.การบุกเบิกให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมนานาชาติ โดยเฉพาะ จาก 14 มณฑล ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ 11.จัดประชุมเครือข่ายสุขภาพจิตระดับนานาชาติ รวมทั้งแลกเปลี่ยนทางวิชาการกับ 25 ประเทศทั่วโลก โดยล่าสุดนี้ในปี 2550 ประเทศไทยมีผู้ป่วยทางจิตเข้ารับการักษาทั้งหมด 1 ล้าน 3 แสนกว่าราย
ธันวาคม************************** 9 ธันวาคม 2551
View 12
09/12/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ