กระทรวงสาธารณสุข คุมเข้มการปฏิบัติงานอาสาสมัครกู้ชีพ และคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉิน ตามกฎหมายการแพทย์ฉุกเฉินพ.ศ. 2551 ห้ามแย่งชิงผู้บาดเจ็บ หรือปฏิบัติงานโดยไม่ผ่านการอบรมขึ้นทะเบียนตามมาตรฐานการช่วยผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน หากฝ่าฝืน มีโทษขั้นปลดออกจากระบบ หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดการอบรมความรู้ทางกฎหมายในพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉินปี พ.ศ.2551 ให้แก่อาสาสมัครกู้ชีพ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจำนวน 40 คน ที่กระทรวงสาธารณสุขว่า ขณะนี้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้มีพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ทั่วประเทศตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2551 เป็นต้นมา เพื่อให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ให้ได้รับการดูแลช่วยเหลือจากบุคลากรที่มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยประเภทนี้เป็นการเฉพาะ เนื่องจากเป็นนาทีวิกฤติความเป็นตายของชีวิต บุคคลที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ แพทย์ พยาบาล เวชกิจฉุกเฉิน หน่วยอาสาสมัครกู้ชีพจากภาคเอกชน มูลนิธิต่างๆ รวมทั้งรถพยาบาล เครื่องมือแพทย์ จะต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ นายวิชาญ กล่าวว่า ในส่วนของการปฏิบัติงาน จะมีระบบเครือข่ายประสานงานผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะการใช้วิทยุสื่อสาร ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตเช่นกัน และทำงานในพื้นที่ไม่ซับซ้อนกัน ดังนั้นปัญหาที่เคยเกิดขึ้นระหว่างปฏิบัติงานที่ตกเป็นข่าวบ่อยๆ เช่น การแย่งชิงผู้ป่วยระหว่างกลุ่มอาสาสมัครกู้ชีพ บางเหตุการณ์ทำให้ผู้บาดเจ็บเสียชีวิต จะไม่มีปรากฏขึ้นอีก ทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หากฝ่าฝืนจะมีโทษ คือ ปลดออกจากระบบ หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท โดยได้มอบหมายให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จัดประชุมชี้แจงให้ผู้ปฏิบัติงานครบทุกภาคต่อไป ทางด้านนายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรมัย รักษาการเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ตาม พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉินปี พ.ศ.2551 มาตรา 30 กำหนดให้มีคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน(กพฉ.) 1 ชุด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้แต่งตั้งแล้ว 1 ชุด มีทั้งหมด 17 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และมีผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนจากแพทยสภา สภาพยาบาล ผู้แทนสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขต่างๆในการกำกับ ดูแลให้ผู้ปฏิบัติการ หน่วยปฏิบัติการ และสถานพยาบาลปฏิบัติตาม คาดว่าจะประกาศใช้ในเร็วๆนี้ นายแพทย์สุรเชษฐ์ กล่าวต่ออีกว่า ในกฎหมายฉบับนี้ ยังครอบคลุมไปถึงการโทรศัพท์ก่อกวนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินคือ หมายเลข 1669 ซึ่งมักพบมากในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบการช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย ที่อาจล่าช้า หรือขาดโอกาสได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยกู้ชีพอย่างทันการ ก็จะมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาทด้วย ************************** 9 ธันวาคม 2551


   
   


View 13    09/12/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ