เจ้าหญิงแมรี่ พระชายาในเจ้าชายเฟเดอริก มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก ทรงสนพระทัยโรคเบาหวาน เสด็จฯ เยี่ยมชมการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคเบาหวานของไทย ที่ จ.ปทุมธานี ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินเยือนไทยเนื่องในวโรกาสครบ 150 ปีความสัมพันธ์ไทย-เดนมาร์ก โดยสถานทูตเดนมาร์ก และ 4 องค์กร มอบเงิน 12 ล้านบาทให้ สธ. ไทย ซื้อรถตรวจคัดกรองเบาหวานขึ้นจอประสาทตา 1 คัน ขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น 2 คนในทุก 10 วินาที ส่วนไทยคาดอีก 17 ปี จะมีผู้ป่วยเบาหวานเกือบ 5 ล้านคน โดยผู้ชายไทยที่เป็นโรคนี้กว่าครึ่งมีปัญหาสมรรถภาพทางเพศเสื่อมด้วย เช้าวันนี้ (26 พฤศจิกายน 2551) เวลา 09.40 น. เจ้าหญิงแมรี่ พระชายาในเจ้าชายเฟเดอริก มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมชมการดำเนินงานควบคุมโรคเบาหวานในชุมชนของไทย ณ ศูนย์แพทย์ชุมชนบางขะแยง ต.บางขะแยง อ.เมือง จ.ปทุมธานี และการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของศูนย์แพทย์ชุมชนบางขะแยงและโรงพยาบาลปทุมธานี การจัดกิจกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน ที่โรงเรียนวัดชินวราราม ต.บางหลวง อ.เมือง จ.ปทุมธานี ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยพร้อมกับเจ้าชายเฟเดอริก มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก ระหว่างวันที่ 24-28 พฤศจิกายน 2551 เนื่องในวโรกาสครบรอบ 150 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเดนมาร์กและประเทศไทย โดยมีนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายปรีชา บุตรศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี และผู้บริหารระดับสูง เฝ้ารับเสด็จฯ นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกรายงานว่า โรคเบาหวานกำลังทวีความรุนแรงคุกคามสุขภาพของคนทั่วโลก ร้อยละ 40 อยู่ในทวีปเอเชีย สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติรายงานข้อมูลล่าสุดในปี 2550 มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานทั่วโลกปีละ 3.8 ล้านคน คนป่วย 246 ล้านคน โดยในทุกๆ 10วินาที จะมีคนป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 2 คนหรือปีละ 7 ล้านคน พบผู้ป่วยมากอันดับ 1 ที่ประเทศอินเดีย จำนวน 40.9 ล้านคน รองลงมาได้แก่จีน 39.8 ล้านคนและสหรัฐอเมริกา 19.2 ล้านคน คาดว่าในปี 2568 ผู้ป่วยทั่วโลกจะเพิ่มเป็น 380 ล้านคน สำหรับประเทศไทย ผลการสำรวจสุขภาพครั้งใหญ่ในปี 2547 พบผู้ป่วยเบาหวาน 3.2 ล้านคน กว่าครึ่งไม่รู้ตัวมาก่อน และมีเพียง 3.8 แสนคนเท่านั้นที่ได้รับการรักษา เสียชีวิตปีละกว่า 8,000 คน แนวโน้มป่วยเป็นเบาหวานสูงขึ้นตามอายุที่มากขึ้น โรคนี้รักษาไม่หายขาด ต้องกินยาควบคุมอาการต่อเนื่อง แต่ละปีไทยเสียค่ารักษากว่า 3 หมื่นล้านบาทและอาจพุ่งขึ้นเป็นแสนล้านบาทหากมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น ที่พบบ่อยได้แก่ โรคเบาหวานเข้าจอประสาทตา พบได้ 1 ใน 4 ของผู้ป่วย ทำให้สายตาเลือนราง อีกร้อยละ 2 อาจตาบอดหากเป็นเบาหวานนานกว่า 15 ปี หากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะลดปัญหาตาบอดได้ถึงร้อยละ 50 นอกจากนี้เสี่ยงเกิดโรคไตเกิดไตวาย โรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพาตอัมพฤกษ์ รวมทั้งถูกตัดนิ้วมือนิ้วเท้าจากแผลเรื้อรัง และยังพบว่าในผู้ชายที่ป่วยเป็นเบาหวาน กว่าครึ่งมีปัญหาหมดสมรรถภาพทางเพศ เนื่องจากความผิดปกติของปลายประสาท คาดว่าในปี 2568 ไทยจะมีผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มเป็น 4.7 ล้านคน เสียชีวิตปีละ 52,800 คน ในการควบคุมป้องกันโรคเบาหวาน ในปี 2552 จะเน้นหนัก 2 เรื่องใหญ่ ได้แก่ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รณรงค์ให้ประชาชนลดกินหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก ผลไม้ เพิ่มการออกกำลังกายให้ได้วันละอย่างน้อย 30 นาที ซึ่งจะช่วยควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ป้องกันไม่ให้ป่วย และการพัฒนาระบบบริการ ให้โรงพยาบาล และศูนย์สุขภาพชุมชนทุกแห่ง ตั้งคลินิกเบาหวาน และให้ทุกจังหวัดเร่งค้นหาผู้ป่วยโรคเบาหวานเข้าสู่ระบบการรักษา เพื่อลดภาวะแทรกซ้อน รวมทั้งให้จัดชุมชนลดพฤติกรรมเสี่ยง ลดโรค อย่างน้อยจังหวัดละ 1 ชุมชน ทั้งนี้ ในโอกาสครบรอบ 150 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเดนมาร์กและไทย และการที่เจ้าหญิงแมรี่ทรงเห็นความสำคัญของการคัดกรอง ค้นหา และการดูแลเฝ้าระวังเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน สถานทูตเดนมาร์ค มูลนิธิโรคเบาหวานโลก (World Diabetes Foundatin:WDF) สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย สหพันธ์สมาคม ไว ดับเบิลยู ซี เอ ประเทศไทย (International YWCA Thailand) และบริษัทโนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด จะร่วมกันจัดหาทุนประมาณ 350,000-400,000 เหรียญสหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 12 ล้านบาท มอบให้กระทรวงสาธารณสุขไทย นำไปจัดซื้อรถและอุปกรณ์ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา (Eye Mobile Unit) ในถิ่นทุรกันดารด้วย ด้านนายแพทย์ภูกฤษ เวชโอสถศักดา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ศูนย์การแพทย์ชุมชนบางขะแยง ดูแลประชากรใน 4 หมู่บ้าน จำนวน 12,061 คน มีอสม. 102 คน มีผู้ป่วยเบาหวาน 259 รายหรือร้อยละ 6 ของผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ขณะนี้สามารถให้บริการดูแลผู้ป่วยเบาหวานอย่างครบวงจร ทั้งการตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจหาภาวะแทรกซ้อน การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น การให้คำปรึกษาผู้ป่วย การจัดกิจกรรมถ่ายทอดประสบการณ์การดูแลสุขภาพในกลุ่มผู้ป่วย และออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง มีแพทย์ทำงานเต็มเวลาในวันราชการทุกวัน และมีเจ้าหน้าที่ให้บริการจนถึง 20.30 น. เปิดให้บริการทุกวันไม่มีวันหยุด มีคลินิกโรคเบาหวานในวันพุธ ผู้รับบริการประมาณ 50 – 60 คน เริ่มเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ 7.00 น. ภายหลังเจาะเลือดแล้ว จะมีบริการข้าวต้มซึ่งกลุ่มผู้ป่วยได้เรี่ยไรเงินตั้งเป็นกองทุน เพื่อรับประทานภายหลังเจาะเลือด ป้องกันไม่ให้เกิดอาการหน้ามืดเป็นลมจากน้ำตาลในเลือดต่ำระหว่างรอแพทย์ตรวจ ได้เป็นอย่างดี จังหวัดปทุมธานี มีผู้ป่วยโรคเบาหวานสูงเป็นอันดับ 3 รองจากโรคความดันโลหิตสูงและอุบัติเหตุ พบผู้ป่วย 800 คนทุกประชากร 100,000 คน โดยโรงพยาบาลปทุมธานีได้พัฒนาระบบบริการผู้ป่วยเบาหวานอย่างต่อเนื่อง ในปี 2550 ได้รับรางวัลจากสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล และสมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย ขณะนี้ได้ขยายบริการตรวจรักษาลงสู่ศูนย์แพทย์ชุมชนและสถานีอนามัย มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านช่วยค้นหา คัดกรองกลุ่มเสี่ยงในชุมชน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษา รวมทั้งให้ความรู้ผู้ป่วยและครอบครัวให้สามารถดูแลตนเองอย่างถูกต้อง และติดตามดูแลผู้ป่วยถึงบ้านเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ****************************** 26 พฤศจิกายน 2551


   
   


View 14    26/11/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ