กระทรวงสาธารณสุข เผยภัยอ้วน กำลังเป็นชนวนก่อโรคเบาหวานอย่างหนัก ภัยกำลังมุ่งสู่เด็กและเยาวชน ต่อวันจะมีเด็กและวัยรุ่นทั่วโลกเป็นโรคเบาหวานเพิ่มวันละ 200 คน ส่วนไทยล่าสุดพบมีเด็กป่วยโรคเบาหวาน 9 หมื่นคน สาเหตุมาจากเรื่องอาหารการกิน โดยเฉพาะ 9 อาหารยอดนิยมคนไทย ที่ให้พลังงานสูง อาทิ กล้วยทอด ปาท่องโก๋ ขนมปังไส้ครีม แครกเกอร์ เฟร้นซ์ฟรายด์ โดนัท ชี้หากกินบ่อย อ้วนง่าย เบาหวานเยือนเร็ว หากเป็นโรคนี้ตั้งแต่เด็ก อายุจะสั้นลง 10-20 ปี
นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้โรคเบาหวานกำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ทวีความรุนแรงทั่วโลก แนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเกิดในเด็กและเยาวชนมากขึ้น ในปี 2550 พบผู้ป่วย 246 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 1 คน ทุกๆ 5 วินาที เสียชีวิตปีละเกือบ 4 ล้านคน ใกล้เคียงกับการตายจากโรคเอดส์ และที่น่าห่วง มีเด็กป่วยด้วยเบาหวานที่เกิดจากพฤติกรรมเพิ่มขึ้นวันละ 200 คน ซึ่งจะเป็นภาระต่อสังคมในระยะยาว ทั้งค่ารักษาและโรคแทรกซ้อนที่ตามมา ซึ่งโรคนี้หากป่วยตั้งแต่อายุยังน้อย จะทำให้ชีวิตสั้นลงโดยเฉลี่ย 10-20 ปี ในปีนี้ องค์การอนามัยโลกจึงได้ให้ทั่วโลกรณรงค์ลดความอ้วนเพื่อแก้ปัญหาโรคเบาหวาน โดยมุ่งเน้นในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น เนื่องจากมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น สาเหตุหลักกว่าร้อยละ 80 เกิดจากความอ้วน เนื่องจากในคนอ้วนจะทำให้เชลล์ของตับอ่อนที่ผลิตอินซูลิน ที่ทำหน้าที่สลายน้ำตาลในเลือดทำงานหนักเกินไปจนล้า ไม่สามารถทำงานได้ รวมทั้งขาดการออกกำลังกาย ซึ่งป้องกันได้โดยการปรับพฤติกรรม ลดกินอาหารรสหวาน มัน เค็ม เพิ่มกินผัก ผลไม้ และออกกำลังกายให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้ร่างกายอ้วน
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทย ในปี 2550 มีผู้ป่วยเบาหวานเข้ารักษาในโรงพยาบาลทั่วประเทศเกือบ 4 แสนราย เสียชีวิตปีละเกือบ 8,000 ราย สาเหตุกว่าร้อยละ 80 ไม่ใช่จากกรรมพันธุ์เหมือนในอดีต แต่เกิดจากพฤติกรรม เช่น กินอาหารหวาน มัน กินขนมกรุบกรอบ น้ำหวาน อาหารสำเร็จรูป ขาดการออกกำลังกาย นั่งๆนอนๆ ดูทีวี เล่นคอมพิวเตอร์ทั้งวัน เฉพาะกลุ่มเด็กและวัยรุ่น จากการศึกษาผู้ป่วยเบาหวานที่รับการรักษาในสถานพยาบาล 11 แห่ง ใน กทม. หาดใหญ่ เชียงใหม่ นครราชสีมา จำนวน 9,419 ราย พบเป็นเด็กและวัยรุ่น 250 ราย ในจำนวนนี้ ร้อยละ 18 เป็นเบาหวานที่ป้องกันได้ ซึ่งเดิมเคยพบเพียงร้อยละ 1-2 เท่านั้น สาเหตุมาจากความอ้วน โดยขณะนี้เด็กไทยอ้วนประมาณ 15 ล้านคน มากที่สุดในกทม. พบได้ทุก 1 ใน 10 คน รองลงมาคือภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีเด็กป่วยเบาหวานแล้ว 90,000 ราย
ในการป้องกันควบคุมปัญหาดังกล่าว ในปี 2552 กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเน้นการป้องกันไม่ให้คนป่วยเพิ่ม คือ ให้ทุกจังหวัดรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดกินหวาน มัน เค็ม เพิ่มกินผัก ผลไม้ และออกกำลังกายให้ได้วันละอย่างน้อย 30 นาที เน้นหนักในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น ในส่วนของผู้ที่ป่วยแล้ว ได้ตั้งคลินิกเบาหวานในโรงพยาบาล ศูนย์สุขภาพชุมชนทุกแห่ง รวมทั้งค้นหาผู้ป่วยโรคเบาหวานให้เข้าสู่ระบบบริการมากที่สุด ให้ผู้ป่วยทุกคนได้รับยาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ตาบอด ไตวาย อัมพาต โรคหัวใจขาดเลือด ถูกตัดนิ้วมือ-เท้าจากแผลเรื้อรัง ซึ่งปัจจุบันมีผู้รู้ตัวว่าป่วยและเข้ารับการรักษาเพียงร้อยละ 43 เท่านั้น
ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการประเมินกระแสการบริโภคของคนไทยในปัจจุบัน พบว่ามีค่านิยมต่างไปจากอดีตมาก มักนิยมกินเนื้อสัตว์เปล่าๆ ตามคนตะวันตก ชอบอาหารสำเร็จรูป โดยสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สำรวจการบริโภคอาหารของคนไทยทั่วประเทศ ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา พบมีอาหารยอดนิยมซึ่งล้วนให้พลังงานสูง 9 ชนิด อันดับ 1 ได้แก่ กล้วยทอด นิยมร้อยละ 58 อันดับ 2 ปาท่องโก๋ นิยมร้อยละ 55 อันดับ 3 ขนมปังไส้ครีม นิยมร้อยละ 54 อันดับ 4 กุนเชียง ร้อยละ 46 อันดับ 5 โดนัท ร้อยละ 43 อันดับ 6 และ 7 ข้าวเกรียบ/ข้าวอบกรอบ หมูยอ นิยมร้อยละ 42 อันดับ 8 ขนมปังแครกเกอร์ ร้อยละ 39 และอันดับ 9 เฟร้นซ์ฟรายด์ นิยมร้อยละ 28
นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนประกอบหลักของอาหารดังกล่าว ได้แก่ แป้ง น้ำตาล และไขมัน หากกินบ่อย ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก จะทำให้อ้วนง่ายเนื่องจากมีพลังงานสูง โดยเฟร้นฟรายด์ให้พลังงานสูงที่สุดถึง 296 กิโลแคลอรี่ รองลงมาคือ กล้วยทอด ให้พลังงาน 251 กิโลแคลอรี่ หมูยอ ให้พลังงาน 240 กิโลแคลอรี่ ขนมปังไส้ครีม ให้พลังงาน 193 กิโลแคลอรี่ โดนัท 185 กิโลแคลอรี่ กุนเชียง 178 กิโลแคลอรี่ ปาท่องโก๋ 176 กิโลแคลอรี่ เมื่อพิจารณาเฉพาะคนกทม. พบว่านิยมกินปาท่องโก๋มากที่สุด ร้อยละ 60 รองลงมาคือ ขนมปังไส้ครีม กล้วยทอด โดนัท แครกเกอร์ ในการกินอาหารกลุ่มนี้ ควรกินแต่พอเหมาะ และไม่ควรกินเกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์
สำหรับการปรับพฤติกรรมในกลุ่มเด็กและเยาวชนวัยเรียน ปีนี้กรมอนามัยได้รณรงค์ให้มีการออกกำลังกายหลังเคารพธงชาติก่อนเข้าเรียนทุกวัน วันละ 30 นาที ประเมินสุขภาพปีละ 2 ครั้ง ส่งเสริมให้เด็กกินผักผลไม้แทนขนม ไม่กินจุบจิบ ไม่กินน้ำอัดลม ซึ่งมีน้ำตาลมากถึง 8-11 ช้อนชา กินผลไม้รสหวานนานๆ ครั้ง ไม่สะสมขนมขบเคี้ยว หรือขนมกรุบกรอบไว้ในบ้าน และขอความร่วมมือผู้ปกครองให้จำกัดเวลาเล่นคอมพิวเตอร์ ดูทีวี ของเด็ก ไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง
****************************** 23 พฤศจิกายน 2551
View 14
23/11/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ