กระทรวงสาธารณสุข เตือนภัยโรคเบาหวาน กำลังเป็นภัยเงียบคร่าชีวิตคนทั่วโลก ต้นเหตุร้อยละ 90 มาจากปัญหาอ้วน น้ำหนักเกินพิกัด ชี้ขณะนี้มีคนไทยป่วยโรคเบาหวานพุ่งกว่า 3 ล้านคน ร้อยละ 60 ไม่รู้ตัวว่าป่วย แนะการป้องกัน ควรออกกำลังกาย และเพิ่มการกินผักผลไม้ให้ได้วันละ 4-5 ทัพพี โดยประโยชน์กากใยในผักผลไม้ จะช่วยลดการสร้างและดูดซึมไขมันชนิดร้ายที่เรียกว่าโคเลสเตอรอล ในร่างกายได้ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2549 องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นวันเบาหวานโลกเพื่อให้ประเทศสมาชิกทั่วโลก รณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันตัว เนื่องจากโรคดังกล่าวเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกและมีแนวโน้มเพิ่มรุนแรงขึ้น ในปี 2548 ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานประมาณ 1.1 ล้านคน เฉลี่ยนาทีละ 2 คน ป่วยกว่า 180 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2 เท่าในปี 2573 โดยผู้ที่ป่วยร้อยละ 80 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 45 – 65 ปี สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีคนเป็นโรคเบาหวานเกือบ 47 ล้านคน มากที่สุดคืออินเดีย 31 ล้านกว่าคน ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 4 จากการสำรวจล่าสุดเมื่อพ.ศ.2547 พบคนไทยเป็นโรคเบาหวาน 3 ล้านกว่าคนหรือเกือบร้อยละ 7 ของประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นจากปี 2534 กว่า 3 เท่าตัว ในจำนวนนี้เกือบร้อยละ 60 ไม่รู้ว่าตนเองเป็นเบาหวาน จึงไม่ได้รักษาตัวตั้งแต่เริ่มแรก ดังนั้นในปี 2550 มีนโยบายให้เร่งค้นหาผู้ป่วยโรคเบาหวานให้เข้าสู่ระบบบริการมากที่สุด ซึ่งผู้ป่วยโรคเบาหวานหากไม่ได้รับการดูแลรักษาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ จะทำให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคแทรกซ้อน เช่น ตาบอด ไตวาย อัมพาต โรคหัวใจขาดเลือด เป็นแผลเรื้อรังที่มือเท้า ต้องตัดนิ้วมือนิ้วเท้ามากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า และมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดสูงกว่าคนปกติถึง 4 เท่า นายแพทย์มงคลกล่าว ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศฺวิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่าคนในเมืองเป็นโรคเบาหวานมากกว่าชนบท แต่ขณะนี้พบว่าปัญหาพอๆ กัน และจำนวนการป่วยจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ โดยในปี 2548 ทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคเบาหวานเข้ารักษาตัวในสถานพยาบาลที่อยู่ในสังกัด 228,545 คน พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 40 - 59 ปี ร้อยละ 48 รองลงมาคืออายุมากกว่า 60 ปี พบร้อยละ 46 และมีผู้เสียชีวิต 6,643 ราย เมื่อเทียบกับประชากรทุก 1 แสนคนแล้ว จังหวัดที่มีอัตราเสียชีวิตจากโรคนี้มากที่สุดได้แก่ ขอนแก่น แสนละ 538 คน รองลงมาคือกรุงเทพมหานครแสนละ 472 คน ร้อยเอ็ดแสนละ 334 คน อุดรธานีแสนละ 314 คน และยังมีอีกประมาณ 5 ล้านคน ที่เสี่ยงเกิดโรคเบาหวาน เพราะเริ่มมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อว่า โรคเบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างเรื้อรัง จากความผิดปกติของการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินที่ผลิตจากตับอ่อน หรือการออกฤทธิ์ของอินซูลินเพื่อนำน้ำตาลไปให้เซลล์ต่าง ๆ ใช้เป็นพลังงานในร่างกายไม่ดีพอ ต้นเหตุของโรคเบาหวานที่เกิดขึ้นทั่วโลกขณะนี้รวมทั้งในไทยด้วยกว่าร้อยละ 90 เกิดจากความอ้วนและน้ำหนักเกิน ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการไม่ออกกำลังกาย และการกินผักผลไม้น้อย โดยไขมันที่เพิ่มขึ้นในคนอ้วน จะทำให้อินซูลินทำงานได้ไม่ดี นำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ได้น้อย ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งผลจากการสำรวจสุขภาพผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป พบผู้ชายร้อยละ 23 และผู้หญิงร้อยละ 34 น้ำหนักเกินมาตรฐาน โดยพบในเขตกรุงเทพมหานครสูงที่สุด ผู้ชายพบร้อยละ 32 ส่วนในผู้หญิงพบร้อยละ 40 ที่สำคัญพบว่าทั้งชายและหญิงเฉลี่ยเกือบร้อยละ 80 กินผักผลไม้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน คือน้อยกว่าวันละ 4ขีด (400 กรัม) หรือไม่ถึงวันละ 5 ทัพพีตักข้าว ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะต้องเร่งควบคุมน้ำหนักตัว ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ควรไปรับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดที่สถานบริการสาธารณสุขเป็นประจำ และปฏิบัติตนเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคเบาหวาน โดยเลิกสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลดอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์และไขมันสูง เช่น กะทิ เนื้อสัตว์ติดมัน น้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ลดอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล ขนมหวานต่าง ๆ เพิ่มการรับประทานผักผลไม้ให้ได้วันละ 4 – 5 ทัพพีตักข้าว โดยหากกินผักผลไม้เพียงพอ ท้องจะไม่ผูก จะลดความเสี่ยงโรคอ้วน โรคเบาหวาน และเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ลงได้มาก เนื่องจากกากใยในผักผลไม้ จะช่วยลดการสร้างและดูดซึมไขมันชนิดร้ายที่เรียกว่าโคเลสเตอรอล ในร่างกายได้ และหากออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที อาทิตย์ละอย่างน้อย 3 วัน จะช่วยให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหว ทำงานได้ดีขึ้น นายแพทย์ปราชญ์กล่าว สำหรับอาการน่าสงสัยว่าจะเป็นเบาหวาน เช่น ปัสสาวะมากและบ่อยครั้ง คอแห้ง กระหายน้ำ ดื่มน้ำมาก หิวบ่อยกินจุ แต่น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เหนื่อยง่าย ไม่ค่อยมีแรง เป็นแผลหายช้า สายตาพร่ามัว หากมีอาการเหล่านี้ สามารถเข้ารับบริการตรวจที่สถานพยาบาลได้ นายแพทย์ปราชญ์กล่าว พฤศจิกายน 4-5 ******************************** 12 พฤศจิกายน 2549


   
   


View 15    12/11/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ