เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุม The Seventh Asian and Pacific Population Conference (APPC) ณ The United Nations Conference Center (UNCC) กรุงเทพมหานคร  โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน

           แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ผลักดันให้การส่งเสริมการมีบุตรเป็น “วาระแห่งชาติ” ภายใต้นโยบายรัฐบาล โดยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัยในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว จึงเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในเวทีนานาชาติ ล่าสุดได้เข้าร่วมการประชุม The Seventh Asian and Pacific Population Conference (APPC) ซึ่งถือเป็นการครบรอบ 60 ปีของการประชุม รวมถึงยังเป็นวันครบรอบ 30 ปี ของการประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องประชากรและการพัฒนา (International Conference on Population and Development : ICPD) ซึ่งสิ่งที่ท้าทายสำหรับประเทศไทย คือ อัตราการเกิดที่ลดลง ส่งผลให้ในอีก 60 ปี ข้างหน้าหรือปี 2626 จำนวนประชากรไทยจะลดลงจาก 66 ล้านคน เหลือเพียง 33 ล้านคน จำนวนประชากรวัยแรงงาน (ช่วงอายุ 15 ถึง 64 ปี) จะลดลงจาก 46 ล้านคน เหลือเพียง 14 ล้านคน จำนวนประชากรวัยเด็ก (ช่วงอายุ 0 ถึง 14) จะลดลงจาก 10 ล้านคน ในเหลือเพียง 1 ล้านคน สูงวัย (65+) เพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคน ไปเป็น 18 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งหากประชากรลดลงมากขนาดนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงาน จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก

          ดร.นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการที่แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย ได้มอบหมายให้ เข้าร่วมประชุม The Seventh Asian and Pacific Population Conference (APPC) ณ The United Nations Conference Center (UNCC) กรุงเทพมหานคร กรมอนามัยเสนอให้ที่ประชุมเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมการเกิด ภายใต้แคมเปญ “Give Birth Great World” การเกิดคือการให้ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งประเทศไทยติดอยู่ในกลุ่ม 23 ประเทศ ที่ประชากรลดลง กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายให้เร่งผลักดันมาตรการส่งเสริมการมีบุตร ทั้งในเรื่องความสมดุลการทำงานกับการดูแลครอบครัว การแบ่งเบาค่าใช้จ่ายและภาระในการเลี้ยงดูบุตร การช่วยเหลือคนที่มีบุตรยาก และการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ในกลุ่มที่ใช้ชีวิตคู่ไม่อยากจดทะเบียนสมรส กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มหนุ่มโสด สาวโสดที่อยากมีลูก ให้มีโอกาสมีลูกได้ โดยเร่งภาครัฐ และเอกชนยกเครื่องคลินิกส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ

        “ทั้งนี้ ยังให้คำมั่นสัญญาในการประชุม Nairobi ว่าจะให้ผลการดำเนินงานประสบความสำเร็จในปี 2573 ตามเป้าหมาย SDG ส่วนใหญ่ ด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ได้รับการคุ้มครองอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกภาคีเครือข่ายจะต้องร่วมมือกัน ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย / 17 พฤศจิกายน 2566



   
   


View 196    17/11/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ