อย. เดินหน้าฟังเสียงทุกภาคส่วนรอบ 3 ปรับระบบอนุญาต เล็งสร้างไทยเป็น HUB ผลิตภัณฑ์สุขภาพนวัตกรรม
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- 15 View
- อ่านต่อ
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนให้ระมัดระวังโรคมือเท้าปาก ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคที่พบการระบาดเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝนของทุกปี โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสหลากหลายสายพันธุ์ ได้แก่ เอ็นเทอโรไวรัส คอกแซคกี้ไวรัส เอ็กโคไวรัส ในกรณีที่มีอาการรุนแรง เช่น อาการสมองอักเสบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญอาจทำให้เด็กเสียชีวิต มักเกิดจากเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) มักพบการระบาดในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็กชุมชน โรงเรียน และในชุมชน
วันนี้ (1 กรกฎาคม 2568) นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมของทุกปี มักพบการแพร่ระบาดของโรคมือเท้าปากในกลุ่มเด็กเล็ก การแพร่เชื้อเกิดได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำลาย น้ำมูก หรือน้ำตุ่มพองจากแผลของผู้ป่วย ซึ่งเชื้อไวรัสสามารถปนเปื้อนอยู่บนของเล่น เสื้อผ้า ภาชนะที่ใช้ร่วมกัน และพื้นผิวที่มีการสัมผัสบ่อย เช่น ลูกบิดประตูหรือราวจับ สาเหตุที่พบการระบาดในกลุ่มเด็กเล็ก เนื่องจากเด็กวัยนี้มักชอบเล่นของเล่นร่วมกัน หยิบของเข้าปาก หรือใช้มือจับปาก จมูก ตา ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย
สถานการณ์โรคมือเท้าปาก ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 จากข้อมูลของกองระบาดวิทยา พบว่ามีรายงานผู้ป่วยสะสม 24,008 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ เด็กแรกเกิดถึง 4 ปี จำนวน 17,739 ราย ซึ่งมีมากกว่าร้อยละ 70 ของผู้ป่วยทั้งหมด รองลงมา คือ กลุ่มเด็กอายุ 5 - 9 ปี (ร้อยละ 22.0) และกลุ่มอายุ 10 - 14 ปี (ร้อยละ 2.5) ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่ยังนับเป็นข่าวดีที่ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ยังไม่พบรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าว
“เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคมือเท้าปากในช่วงฤดูฝน กรมควบคุมโรคขอแนะนำให้ผู้ปกครองหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากมีอาการไข้ ร่วมกับมีแผลหรือจุดแดงในช่องปาก เช่น บริเวณลิ้น เพดานปาก หรือกระพุ้งแก้ม มีผื่นหรือตุ่มน้ำใสบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ลำตัว หรือก้น เด็กเล็กมีอาการงอแง ไม่ยอมรับประทานอาหารหรือดื่มนม มีน้ำลายไหลหรือบ่นเจ็บปาก ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคมือเท้าปาก ในกรณีที่อาการรุนแรง อาจพบไข้สูงผิดปกติ รับประทานอาหารและน้ำได้น้อยมาก ซึมลง อาจมีอาการชักเกร็ง อาเจียนมาก หรือหายใจหอบเหนื่อย หากพบอาการเหล่านี้ ควรพาบุตรหลานไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัยและดูแลรักษาอย่างเหมาะสม สำหรับการป้องกันโรค ขอแนะนำให้ผู้ปกครองควรหมั่นสอนให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ เนื่องจากเจลแอลกอฮอล์ไม่สามารถฆ่าเชื้อนี้ได้ หมั่นทำความสะอาดของเล่น และของใช้ของบุตรหลานเมื่อกลับจากโรงเรียน หรือหลังจากพาไปสถานที่ที่มีคนหมู่มาก และสุดท้ายควรหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ช้อนส้อม” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะนำการป้องกันโรคในสถานศึกษา รวมทั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยเน้นย้ำให้บุคลากรทางการศึกษาคัดกรองเด็กทุกเช้าอย่างเคร่งครัด หากพบเด็กป่วยให้แยกออกจากเด็กคนอื่นทันที แจ้งผู้ปกครองให้รับเด็กกลับบ้านและให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายดี หากมีเด็กป่วยมากกว่า 2 รายขึ้นไปในห้องเรียนเดียวกันในระยะเวลา 1 สัปดาห์ ควรปิดห้องเรียนอย่างน้อย 1 วัน และทำความสะอาดสิ่งของ พื้นที่ห้องเรียนด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือสารละลายคลอรีน เช่น น้ำยาฟอกขาวผสมกับน้ำตามอัตราส่วนที่เหมาะสม ท้ายที่สุดขอเน้นย้ำให้สถานศึกษาปฏิบัติตามคำแนะนำทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุข และปฏิบัติตามมาตรการและแนวทางการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ สำหรับครูผู้ดูแลเด็กอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงและการแพร่ระบาดของโรค ทั้งนี้ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
****************************
ข้อมูลจาก : กองระบาดวิทยา/กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 1 กรกฎาคม 2568