กระทรวงสาธารณสุข เปิดแผนฟื้นฟูสุขภาพประชาชนหลังน้ำลด เน้นควบคุมป้องกันโรคระบาดที่สำคัญ อาทิ ฉี่หนู ไข้เลือดออก โรคไวรัสตับอักเสบ และฟื้นฟูเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง 3 เดือน ใน 4 โรค ได้แก่ ฆ่าตัวตาย พีทีเอสดี ซึมเศร้า ดื่มสุรา โดยผลสำรวจ 2 อำเภอในจังหวัดอ่างทองหลังน้ำลด พบชาวบ้านร้อยละ 25 เป็นโรคพีทีเอสดี ฝันร้าย และมี ร้อยละ 7 อาการรุนแรงขั้นคิดฆ่าตัวตาย
วันนี้ (10 พฤศจิกายน 2549) นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.กาญจนา กาญจนสินิทธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางตรวจเยี่ยมที่สถานีอนามัยบางระกำ ต.บางระกำ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง เพื่อติดตามการดูแลฟื้นฟูสุขภาพจิตผู้ประสบภัยหลังน้ำลด และการฟื้นฟูด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม กำจัดขยะ ฉีดสารเคมีพ่นทำลายไข่แมลงวันและยุง เป่าล้างบ่อบาดาล ปรับปรุงคุณภาพน้ำ ดูดส้วม เพื่อควบคุมป้องกันโรคระบาดภายหลังน้ำลด ที่ศูนย์พิพิธภัณฑ์ไม้ไผ่และเครื่องจักสาน บ้านยางทอง ต.บางเจ้าฉ่า อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง
นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า ภายหลังน้ำลด กระทรวงสาธารณสุขได้กำชับให้ทุกจังหวัดเร่งดำเนินการฟื้นฟูสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม กำจัดขยะมูลฝอย ทำความสะอาดบ้าน ห้องส้วมที่อุดตัน ล้างบ่อน้ำใช้ ใส่สารส้มคลอรีนฆ่าเชื้อโรคที่ตกค้างในน้ำ และดูแลฟื้นฟูสุขภาพจิตประชาชน โดยให้เฝ้าระวัง 4 โรคสำคัญหลังน้ำลด ได้แก่ โรคฉี่หนู เนื่องจากในพื้นที่ที่น้ำลดยังมีหนูที่ยังมีชีวิตและแพร่เชื้อโรคฉี่หนูได้ โดยหนู 1 คู่สามารถแพร่พันธุ์ได้ปีละ 1,200 ตัว รวมทั้งโรคไวรัสตับอักเสบ โรคอุจจาระร่วงอย่างแรงซึ่งติดต่อทางน้ำและอาหาร และโรคไข้เลือดออกที่มียุงลายเป็นต้นเหตุและมักวางไข่ในน้ำขังนิ่ง ซึ่งทุกจังหวัดได้จัดเตรียมความพร้อมทั้งหมดแล้ว
ในด้านการฟื้นฟูสภาพจิตใจของประชาชนหลังน้ำลด กระทรวงสาธารณสุขได้จัดแผนเฝ้าระวัง 4 โรคสำคัญ ได้แก่ การฆ่าตัวตาย โรคพีทีเอสดี (PTSD : Post Traumatic Stress Disorder) หรือที่เรียกว่า โรคบาดแผลทางใจ โรคซึมเศร้า และการดื่มสุรา โดยจะเฝ้าระวังเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่คนปกติประมาณ ร้อยละ 95 จะสามารถปรับตัวได้ ได้จัดทีมจิตแพทย์เคลื่อนที่จากโรงพยาบาลจิตเวช ศูนย์สุขภาพจิตต่างๆ ร่วมกับจังหวัด ออกให้บริการจังหวัดละ 3-5 ทีมต่อวัน จนถึงสิ้นเดือนนี้ โดยจะ คัดกรองผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต เพื่อให้การบำบัดตามอาการ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะเยี่ยมบ้านดูแลอย่างใกล้ชิด โดยได้จัดทำคู่มือคลายเครียดฉบับประชาชนแจก 10,000 เล่ม และจัดอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้คำปรึกษาดูแลประชาชนในเบื้องต้นได้ พร้อมทั้งเปิดสายด่วน 1323 บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตตลอด 24 ชั่วโมงอีกทางหนึ่ง
สำหรับที่จังหวัดอ่างทอง หน่วยฟื้นฟูสุขภาพจิตได้ประเมินสภาวะทางจิตประชาชนในพื้นที่หลังน้ำลด ใน 6 ตำบล ของ อ.เมือง และอ.โพธิ์ทอง ได้แก่ ศาลาแดง ป่างิ้ว ย่านซื่อ บ้านอิฐ องครักษ์ และบางระกำ เมื่อวันที่ 6-8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีผู้รับบริการ 228 ราย พบร้อยละ 35 มีปัญหาสุขภาพจิต ในจำนวนนี้ร้อยละ 25 เป็นโรคพีทีเอสดี มีอาการเครียด นอนไม่หลับ ฝันร้าย คิดถึงเหตุการณ์ร้ายซ้ำๆ กลัวเกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก ได้ให้ยานอนหลับ และอีกร้อยละ 7 มีอาการซึมเศร้า เหม่อลอย คิดฆ่าตัวตาย ได้ให้ยารักษาอาการซึมเศร้า ติดตามอาการเป็นระยะๆ โดยให้ครอบครัว เพื่อนบ้านช่วยดูแลใกล้ชิด ส่วนใหญ่กลุ่มนี้มักความเครียดสะสมอยู่ก่อน เมื่อเกิดน้ำท่วมขึ้นจึงปรับตัวไม่ได้ ต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่ออีกว่า ตลอดช่วงน้ำท่วมจนถึงขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 4,800 ชุด ให้การรักษาผู้เจ็บป่วย 670,453 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้าร้อยละ 43 ผื่นคันร้อยละ 13 ไข้หวัดร้อยละ 11 ไม่พบโรคระบาด ส่วนด้านสุขภาพจิตให้บริการทั้งสิ้น 80,912 คน ในจำนวนนี้ได้รับยาคลายเครียด 870 ราย ให้คำปรึกษาครอบครัว 1,525 ราย และส่งไปรักษาในโรงพยาบาล 290 ราย ทั้งหมดเป็นผู้ป่วยที่มีอาการป่วยทางจิตมาก่อนแล้ว
**************** 10 พฤศจิกายน 2549
View 17
10/11/2549
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ