รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขสวีเดน สนับสนุนรับบุคลากรทางการแพทย์ของไทย ไปฝึกอบรม ศึกษาดูงานหรือทำวิจัย แลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านวิชาการ เทคโนโลยี โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุในอนาคต เนื่องจากเป็นประเทศสังคมผู้สูงอายุก่อนไทย โดยสวีเดนมีผู้สูงอายุร้อยละ 25 ขณะที่ประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 12 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้นายธวัชชัย สุทธิบงกช ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้การต้อนรับ ฯพณฯ แคริน โจฮันสัน (Karin Johansson) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขประเทศสวีเดน และคณะ 20 คน รวมทั้งเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย และภาคเอกชน ซึ่งเดินทางมาเยี่ยมกระทรวงสาธารณสุขไทย และหารือแลกเปลี่ยนความร่วมมือในการพัฒนาระบบริการสาธารณสุข นายธวัชชัย กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีแผนการลงทุนด้านผู้สูงอายุ (Mega Project) ประกอบด้วย 1.จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ 2.จัดตั้งศูนย์การแพทย์ด้านผู้สูงอายุครบวงจรในโรงพยาบาลศูนย์ครบ 25 แห่ง พ.ศ. 2552-2555 3.จัดตั้งคลินิกผู้สูงอายุในโรงพยาบาลทั่วไป 69 แห่ง 4.ตั้งสถานดูแลผู้สูงอายุระยะยาว 5.พัฒนาหน่วยบริการระดับพื้นฐานในชุมชน เพื่อดูแลฟื้นฟูผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง 6.พัฒนาบุคลากรที่จะให้บริการดูแลผู้สูงอายุ 7.ส่งเสริมพัฒนาการจัดการช่วยเหลือผู้สูงอายุ ทั้งกรณีฉุกเฉินและปกติ และ 8.จัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุใน แต่ละจังหวัดให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ด้านนายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการหารือร่วมกันครั้งนี้ ประเทศสวีเดนได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยี หรือเครื่องมือที่อาจจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขของประเทศไทย ในเบื้องต้นจะมีการแลกเปลี่ยนทางด้านเทคโนโลยี ด้านวิชาการ โดยประเทศสวีเดนยินดีที่จะสนับสนุนให้บุคลากรของประเทศไทยไปฝึกอบรม ศึกษาดูงานหรือทำวิจัยร่วมกันในอนาคต โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งประเทศสวีเดน เป็นสังคมผู้สูงอายุก่อนประเทศไทย มีสัดส่วนของผู้สูงอายุสวีเดนประมาณร้อยละ 25 ในขณะที่ประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 12 ทางสวีเดนจึงมีความก้าวหน้าในเรื่องเครื่องมือและอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้สูงอายุ และยินดีที่ให้ความช่วยเหลือประเทศไทย ให้สามารถนำความก้าวหน้ามาประยุกต์ใช้กับการดูแลผู้สูงอายุไทยในอนาคตได้ นอกจากนี้ ประเทศสวีเดนยังยินดีที่จะแลกเปลี่ยนพัฒนาเทคโนโลยี เครื่องมือต่างๆ ในด้านระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินร่วมกับประเทศไทย เนื่องจากประเทศสวีเดนเป็นประเทศที่มีเครื่องมือในการดูแลผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง ซึ่งเสี่ยงต่อความพิการสูง จะต้องหารือในรายละเอียดให้ชัดเจน เนื่องจากหากเป็นรูปแบบการสั่งซื้อหรือนำเข้าจะต้องใช้งบประมาณสูง ในเบื้องต้นอาจเป็นการแลกเปลี่ยนเฉพาะทางด้านวิชาการก่อน นายแพทย์จักรธรรมกล่าว ******************************* 11 พฤศจิกายน 2551


   
   


View 17    11/11/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ