“สมศักดิ์” เผย เขตสุขภาพที่ 8 สร้างรายได้จากนวดไทยกว่า 110 ล้านบาท/ปี ชู “สกลนครโมเดล” เพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย
- สำนักสารนิเทศ
- 118 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยศักยภาพด้านการแพทย์แผนไทย 7 จังหวัด เขตสุขภาพที่ 8 ผลิตหมอนวดไทยเพื่อสุขภาพได้ปีละ 300 คน สร้างรายได้กว่า 110 ล้านบาทต่อปี โดยมี “สกลนครโมเดล” เป็นต้นแบบสร้างมูลค่าสมุนไพรไทยและภูมิปัญญานวดไทย ขณะที่ศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลสกลนคร พัฒนาศักยภาพด้านรังสีรักษา ด้วยเครื่องเร่งอนุภาค LINAC รองรับผู้ป่วยได้กว่า 1,000 คนต่อปี
วันนี้ (28 เมษายน 2568) ที่ โรงพยาบาลสกลนคร จ.สกลนคร นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดมหกรรมการแพทย์แผนไทยและนวดไทย เขตสุขภาพที่ 8 และการจัดตั้งวิทยาลัยนวดไทย เขตสุขภาพที่ 8 พร้อมติดตามการดำเนินงานของศูนย์มะเร็งเครื่องเร่งอนุภาค Linear Accelerator (LINAC) โดยมี นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 พญ.บุญศิริ จันศิริมงคล สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 8 นพ.มานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร นพ.สมศักดิ์ ประฏิภาณวัตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสกลนคร และคณะผู้บริหารร่วมงาน
นายสมศักดิ์กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ (Care and Wellness Economy) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ขับเคลื่อนผ่านการพัฒนาบริการทางการแพทย์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การแพทย์แผนไทย การยกระดับสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ภายใต้แนวคิด “เจ็บป่วยคราใด คิดถึงยาไทย ก่อนไปหาหมอ” โดยเขตสุขภาพที่ 8 (สกลนคร อุดรธานี นครพนม เลย หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ) มีศักยภาพในการผลิตหมอนวดไทยเพื่อสุขภาพได้ปีละประมาณ 300 คน สร้างรายได้กว่า 110 ล้านบาทต่อปี และมีจังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นเมืองที่มีสมุนไพรหลากหลายชนิดจนได้รับสมญานามว่า “สกลนคร มหานครแห่งพฤกษเวช” เป็นต้นแบบนำร่อง ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การสร้างมูลค่าให้กับสมุนไพรในท้องถิ่น, กลางน้ำ คือ การผลิตยาสมุนไพรโดยโรงงานที่ผ่าน WHO GMP ภาครัฐ สร้างมูลค่าจากผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้กว่า 26 ล้านบาทต่อปี และปลายน้ำ คือ ศักยภาพด้านภูมิปัญญาการนวด 7 โรค/อาการ ได้แก่ กลุ่มปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด, โรคไหล่ติด, โรคนิ้วล็อก, ภาวะกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (ปวดสลักเพชร), หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท, อัมพฤกษ์/อัมพาต และกลุ่มอาการปวดเข่า รวมถึงการตอกเส้น ขิดเส้น และผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ
นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า ในส่วนของการพัฒนาศักยภาพการบริการ พบว่า โรงพยาบาลสกลนครเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สามารถให้บริการ “รังสีรักษา” โรคมะเร็ง ด้วยเครื่องเร่งอนุภาค Linear Accelerator (LINAC) ซึ่งเป็นการใช้รังสีพลังงานสูงทำลายเซลล์มะเร็งอย่างแม่นยำ ลดผลข้างเคียง ไม่ต้องผ่าตัด และใช้เวลารวดเร็ว สามารถให้บริการผู้ป่วยได้ถึง 1,069 รายต่อปี ขณะนี้อยู่ระหว่างรอติดตั้งเครื่องที่ 2 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ ใช้เวลาในการฉายรังสีเร็วกว่าเครื่องเดิม 5 เท่า ช่วยลดระยะเวลารอคอยฉายรังสีรักษาจาก 2-3 เดือน เหลือเพียง 1 เดือน นอกจากนี้ จากการดำเนินงานตามนโยบาย “คนไทยห่างไกลโรคและภัยสุขภาพ” ของจังหวัดสกลนคร ยังช่วยให้มีการคัดกรองมะเร็งต่างๆ มากขึ้น เช่น การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงอายุ 30-60 ปี 9,394 ราย คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง 10,394 ราย คัดกรองไวรัสตับอักเสบ B และ C รวม 41,967 ราย ซึ่งครอบคลุมกว่าร้อยละ 80 ของกลุ่มเป้าหมาย เป็นต้น
************************************************28 เมษายน 2568