สธ. ส่งทีม Thailand EMT ผลัด 3 ช่วยผู้ประสบภัย “เมียนมา” มุ่งจัดการระบบที่พัก-น้ำใช้ ลดเสี่ยงโรคระบาด
- สำนักสารนิเทศ
- 152 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ส่งทีม Thailand EMT ผลัด 3 รวม 30 คน เปลี่ยนมือผลัด 2 ช่วยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวเมียนมา ระหว่างวันที่ 26 เม.ย. - 2 พ.ค. 2568 เผยผลปฏิบัติการภาพรวมตอบสนองความต้องการพื้นฐานด้านสุขภาพได้อย่างครอบคลุม แม้โครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่จะได้รับความเสียหาย สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย แต่สามารถเฝ้าระวังควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดของโรคได้ มุ่งเสริมความเข้มแข็งระบบจัดการที่พักและน้ำใช้ในระยะถัดไป
วันนี้ (26 เมษายน 2568) ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ นพ.เอนก มุ่งอ้อมกลาง รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.สฤษดิ์เดช เจริญไชย ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมส่งทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะภัยพิบัติ (Thailand Emergency Medical Team : Thailand EMT) ผลัด 3 เดินทางโดยเครื่องบิน C130 ของกองทัพอากาศ ในเวลา 09.00 น. ไปยังสนามบินมัณฑะเลย์ สาธารณรัฐแห่งสภาพเมียนมา เพื่อสนับสนุนการดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหว
นพ.เอนกกล่าวว่า ในการปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ ทีม Thailand EMT ผลัด 3 ซึ่งประกอบด้วยบุคลากรจากโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กองสาธารณสุขฉุกเฉิน ศูนย์อนามัยที่ 8 และ 12 กรมอนามัย กองวิศวกรรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ผู้ประสานงานองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และมูลนิธิร่วมกตัญญู จำนวน 30 คน ได้นำเครื่องกรองน้ำด้วยสารกรองพร้อมฆ่าเชื้อแบคทีเรียด้วยระบบ UV กำลังผลิตไม่น้อยกว่า 600 ลิตรต่อชั่วโมง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาต่ำ ไปติดตั้งเพื่อช่วยลดความเสี่ยงโรคจากอาหารและน้ำของประชาชนในศูนย์พักพิงที่มีประมาณ 1,600 – 2,000 คน ด้วย พร้อมทั้งผลัดเปลี่ยนทีมผลัด 2 เดินทางกลับ 27 คน เหลืออีก 7 คนอยู่ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับผลัด 3 รวมเป็น 37 คน โดยจะปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน - 2 พฤษภาคม 2568 คาดว่าจะเดินทางกลับมาถึงท่าอากาศยานทหาร 2 (บน.6) ดอนเมือง ช่วงเย็นวันนี้
สำหรับการปฏิบัติงานของทีม Thailand EMT ระหว่างวันที่ 19–24 เมษายน 2568 ให้บริการผู้ประสบภัย รวม 1,304 ราย โรคและอาการหลักที่พบมากที่สุด ได้แก่ ระบบกล้ามเนื้อและข้อต่อ รองลงมาเป็น กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อาการทางตา โรคผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน ระบบทางเดินอาหาร และปัญหาสุขภาพจิตเฉียบพลัน ในจำนวนนี้มีอาการรุนแรงต้องส่งรับการรักษาต่อ 9 ราย ในภาพรวมถือว่าสามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานด้านสุขภาพได้อย่างครอบคลุม แม้จะเผชิญกับสภาวะท้าทาย ทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหายและสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย แต่ไม่พบว่าเกิดการระบาดใหญ่ใด ๆ สะท้อนถึงประสิทธิภาพของระบบเฝ้าระวังและความร่วมมือกับหน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่น โดยในระยะต่อไปจะมุ่งเรื่องการเสริมความเข้มแข็งระบบจัดการที่พักและน้ำใช้ในพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค
***************************************************** 26 เมษายน 2568