พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ เสด็จเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่องสุขภาวะกับโลกที่เปลี่ยนแปลง ผลการประชุมองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2551 เรียกร้องให้ประเทศกลุ่มสมาชิก จัดทำมาตรการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มมาตรการสาธารณสุขที่เข้มแข็ง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง วันนี้ (11 พฤศจิกายน 2551) เวลา 11.00 น. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง “สุขภาวะกับโลกที่เปลี่ยนแปลง” (Health and the Changing World) จัดโดยสถาบันพระบรมราชชนก ร่วมกับชมรมผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด สมาคมศิษย์เก่าพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข วิทยาลัยเครือข่ายภาคกลาง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มหาวิทยาลัยจากออสเตรีย ญี่ปุ่น อินโดนีเชีย สหรัฐอเมริกา เพื่อพัฒนาวิชาการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม การเสนอผลงานวิชาการ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้ประกอบวิชาชีพทั้งในและต่างประเทศ ทุกภูมิภาคทั่วโลกกว่า 500 คน อาทิ เรื่องการส่งเสริมสุขภาพ การจัดการภัยพิบัติ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 พฤศจิกายน 2551 โดยมีนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารระดับสูง และข้าราชการเฝ้ารับเสด็จ ฯ ในการนี้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ได้ประทานโล่แก่ผู้ทรงคุณวุฒิที่สนับสนุนการจัดการประชุม 27 คน และประทานพระดำรัสเปิดประชุมว่า การมีสุขภาพหรือสุขภาวะที่ดี เป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตและสังคม จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการเผชิญกับภาวะโลกร้อน ประชาคมโลกต้องร่วมดำเนินการแก้ไข การจัดประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ จึงถือเป็นการพัฒนาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ที่จะก้าวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง เอื้อประโยชน์สุขแก่ประชาชน และประเทศชาติต่อไป นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กราบทูลรายงานว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลก ให้ความสำคัญต่อภาวะโลกร้อน ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เกิดน้ำท่วม ภัยแล้ง และมีผลกระทบต่อสุขภาพ ประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขไม่เข้มแข็ง จะได้รับผลกระทบจากปัญหานี้มาก ในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขขององค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประเทศอินเดียในปีนี้ ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก กำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชากรของประเทศสมาชิก ซึ่งมี 11 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน เนปาล พม่า อินโดนีเซีย ภูฏาน เกาหลี มัลดีฟว์ และติมอร์-เลสเต และเรียกร้องให้รัฐมนตรีสาธารณสุขของกลุ่มประเทศสมาชิก จัดทำมาตรการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มมาตรการสาธารณสุขที่เข้มแข็ง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในประเทศไทย พบโรคทางเดินอาหารและโรคนำโดยแมลงเพิ่มขึ้น สำนักระบาดวิทยารายงานตั้งแต่มกราคม-ตุลาคม 2551 มีผู้ป่วยโรคทางเดินอาหารกว่า 1.1 ล้านคน ขณะที่ปี 2550 ทั้งปีพบเพียง 1.3 ล้านคน โรคที่พบมากที่สุดร้อยละ 90 คืออุจจาระร่วง รองลงมาคือ อาหารเป็นพิษ จะต้องเพิ่มการกวดขันเรื่องความสะอาดยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 68,235 ราย จากปี 2550 พบเพียง 65,581 ราย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันโรค *********************************** 11 พฤศจิกายน 2551


   
   


View 15    11/11/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ