กระทรวงสาธารณสุข ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯสยามมกุฎราชกุมารดูแลสุขภาพผู้ประสบภัยน้ำท่วมทุกวัน สรุปในรอบ 6 วัน พบป่วย 2,417 ราย อาการไม่รุนแรง พบเป็นโรคน้ำกัดเท้ามากที่สุด รองลงมาคือความเครียด พบโรคตาแดง 18 ราย จัดส่งยาสามัญประจำบ้านสนับสนุนจังหวัดอ่างทอง นนทบุรี สิงห์บุรี 10,000 ชุด และวันพรุ่งนี้จัดส่งให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนอีก 3,000 ชุด
ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในแถบจังหวัดภาคกลางเช่นอ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯสยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล จิตแพทย์ นักจิตวิทยา เจ้าหน้าที่ควบคุมโรค ออกให้บริการประชาชนในพื้นที่ประสบภัยทุกวัน วันละกว่า 10 ทีม
ผลสรุปในรอบ 6 วัน มีผู้เจ็บป่วยแล้ว 2,417 ราย ทั้งหมดนี้เจ็บป่วยทั่วๆไป ไม่มีอาการรุนแรง โรคที่พบมากที่สุดได้แก่น้ำกัดเท้า 648 ราย รองลงมาคือความเครียด ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ 383 ราย และปวดเมื่อยจากการขนของหนีน้ำ 290 ราย โดยเริ่มพบโรคตาแดง 18 ราย ที่อ.เมืองอ่างทองและอ.ป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ซึ่งมีสาเหตุจากการใช้น้ำไม่สะอาดล้างหน้า เจ้าหน้าที่ได้ทำการควบคุมป้องกันโรคไม่ให้แพร่ระบาดแล้ว ยังไม่มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม
ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้เน้นย้ำให้โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งในพื้นที่ประสบภัย จัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ต่างๆ เคมีภัณฑ์ต่างๆในการควบคุมป้องกันโรคเช่นสารคลอรีน สารส้ม เซรุ่มแก้พิษงูต่างๆ ไว้ให้พร้อม เพื่อสนับสนุนให้สถานีอนามัย และได้เน้นย้ำให้หน่วยงานสาธารณสุขดูแลสุขภาพผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนดูแลสุขภาพ ไม่ให้มีการเสียชีวิตจาก 3 เรื่อง สำคัญที่สุดคือ โรคฉี่หนู ฆ่าตัวตายและถูกงูมีพิษกัด ทั้งนี้การสนับสนุนพื้นที่ประสบภัยจากส่วนกลาง กระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งยาสามัญประจำบ้านให้จังหวัดสิงห์บุรี อ่างทองและนนทบุรีแล้ว 10,000 ชุด และในวันพรุ่งนี้จะจัดส่งให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อฟื้นฟูหลังน้ำลดอีก 3,000 ชุด ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้สำรองยาช่วยผู้ประสบภัยไว้อย่างเพียงพอ
ทั้งนี้ ปัญหาจากน้ำท่วมขังติดต่อกันนานหลายวัน แนวโน้มการเกิดโรคผิวหนังโดยเฉพาะโรคน้ำกัดเท้า และบาดแผลพุพอง ซึ่งเกิดจากการเดินย่ำน้ำหรือแช่น้ำเป็นเวลานานจะมากขึ้น และเสี่ยงต่อโรคทางเดินอาหารได้ง่าย ขอให้ประชาชนดื่มน้ำต้มสุกหรือน้ำดื่มบรรจุขวดที่มีเครื่องหมายอ.ย. ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดหลังจากขับถ่าย และก่อนรับประทานอาหาร โดยให้รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน สำหรับการป้องกันโรคน้ำกัดเท้า ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเดินย่ำน้ำโดยไม่จำเป็น และหากจำเป็นก็ควรใส่รองเท้าบู้ทกันน้ำ หลังจากเดินย่ำน้ำทุกครั้ง ให้ล้างเท้า ฟอกสบู่ให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง โดยในกลุ่มที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้วต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากหากมีบาดแผลจะอักเสบง่าย
****************** 9 พฤศจิกายน 2551
View 15
09/11/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ