กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หนุน 6 เทคนิคตามแนวทาง Lifestyle Medicine หรือเวชศาสตร์วิถีชีวิต สำหรับวัยเกษียณ ด้วยการกินอาหารถูกหลัก มีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม นอนหลับอย่างมีคุณภาพ การควบคุมความเครียด และจัดการด้านอารมณ์ หลีกเลี่ยงสารหรือวัตถุที่เป็นอันตราย มีปฏิสัมพันธ์กับสังคม เพื่อสร้างสุขภาพที่ดี
และมีความสุข

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete- Aged Society ) และคาดว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด(Super- Aged Society) ในปี 2574 ซึ่งข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า ผู้สูงอายุมีจำนวนทั้งหมด 12.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 19.4 จากประชากรทั้งหมด (ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2566) และมีผู้ทำงานในส่วนงานราชการและรัฐวิสาหกิจที่กำลังจะเกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายน 2566 เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้เกษียณนั้นถือว่ากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย มีเวลาว่างมากขึ้น อาจมีความรู้สึกเหงา อ้างว้าง กลัว โดดเดี่ยว การเข้าสังคมกับเพื่อนร่วมงานน้อยลง อาจทำให้รู้สึกไม่มีคุณค่าในตนเอง ซึมเศร้า หรือใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ประกอบกับสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลง อาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพและจิตใจได้

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยจึงขอแนะนำให้ผู้ที่จะเกษียณอายุและผู้สูงอายุ สร้างแรงบันดาลใจในการจัดการสุขภาพตนเองตามแนวทาง Lifestyle Medicine หรือเวชศาสตร์วิถีชีวิต ภายใต้ 6 องค์ประกอบ คือ 1) การกิน เน้นกินข้าวกล้อง และปลาเป็นหลัก กินตับ กินผัก ผลไม้เป็นประจำ ลด หวาน มัน เค็ม ให้เป็นนิสัยและไม่ลืมดื่มน้ำ ดื่มนมให้เพียงพอ กินอาหารสดใหม่สะอาด ปลอดภัย และกินอย่างมีความสุข 2) มีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมในความเหนื่อยระดับปานกลางสะสมให้ได้อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือโดยเฉลี่ยอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน ควบคู่กับการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ การเคลื่อนไหวรูปแบบต่างๆ การทรงตัวเพื่อป้องกันการหกล้ม เป็นต้น ที่สำคัญควรอบอุ่นร่างกาย และคลายอุ่นร่างกาย ก่อนและหลังการออกกำลังกาย ประมาณ 5-10 นาที 3) การนอนหลับนั้นมีความสำคัญต่อร่างกาย ทำให้ร่างกายได้พักผ่อน ซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของร่างกายตลอดทุกช่วงวัย และมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกาย สมอง ระบบประสาท การเรียนรู้ ความจำ วัยผู้สูงอายุมีผลต่อการทำงานของ ระบบภูมิคุ้มกัน โรคประจำตัว การนอนหลับไม่เพียงพอ หรือโรคของการนอนหลับนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพโรคประจำตัว ภาวะภูมิต้านทานต่ำ และเพิ่มโอกาสเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
ซึ่งกรมอนามัยให้ความสำคัญกับปัญหาการนอนไม่เพียงพอและไม่มีคุณภาพของคนไทย โดยสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยเข้าถึงข้อมูลและบริการด้านการดูแลสุขภาพ เพื่อวิเคราะห์ ประเมินการปฏิบัติและจัดการตนเองเพื่อป้องกันและควบคุมความเสี่ยงต่อสุขภาพ

“4) การควบคุมความเครียด และจัดการด้านอารมณ์ ในสังคมยุคปัจจุบันเราต้องใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อาจทำให้เกิดสภาวะเครียดและวิตกกังวล ซึ่งสิ่งที่เราต้องทำให้ได้ คือ การมีสติรับมือกับความเครียด และความวิตกกังวลที่อาจเกิดขึ้น 5) หลีกเลี่ยงสารหรือวัตถุที่เป็นอันตราย เพราะในชีวิตประจำวันของเรามีสารเสพติดที่ส่งผลต่อสุขภาพในปริมาณเล็กน้อย จนหลายคนมองว่าเป็นเรื่องปกติทั้ง ๆ ที่ไม่ปกติต่อสุขภาพแต่อย่างใด เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มสุราซึ่งเป็นเรื่องของวัฒนธรรมและการเข้าสังคม จึงควรเลือกเดินสายกลาง ดื่มแต่พอประมาณ และผู้สูงอายุเองควรระมัดระวังสุขภาพ หากหลีกเลี่ยงได้จะดีที่สุด เพราะจะส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจตามมา และ 6) การปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หรือการเชื่อมโยงกับสังคม นับเป็นหัวใจสำคัญ เนื่องจากบางคนไม่มีทักษะการเรียนรู้ในสังคม แต่บางคนมีการปรับตัวได้ดี โดยสามารถทำให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่า ด้วยการเป็นจิตอาสาในองค์กรต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งการปฏิบัติตนตามแนวทาง Lifestyle Medicine หรือเวชศาสตร์วิถีชีวิต จะส่งผลให้ผู้สูงอายุสุขภาพดี และมีความสุข สร้างสังคมสูงวัยที่มีคุณภาพต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

***

กรมอนามัย / 15 กันยายน 2566



   
   


View 389    15/09/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ