รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง การห้ามขายเหล้าวันสำคัญทางศาสนาและเทศกาลต่างๆ พบว่ากว่าร้อยละ 80 เห็นด้วย และเชื่อว่าจะเกิดผลดีมากกว่าเสีย โดยครึ่งหนึ่งเห็นว่าควรห้ามขายตลอดเทศกาล เตรียมเสนอนายกฯ ตั้งคณะกรรมการให้ครบและเดินหน้าออกกฎหมายทันที ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกรอบ ที่กระทรวงสาธารณสุข ว่า ในการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากคณะกรรมการฯ ยังไม่ครบตามมาตรา 10 ของพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขณะนี้มีเพียงคณะกรรมการโดยตำแหน่ง 17 คน ยังขาดผู้แทนจากองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ สาธารณสุข สังคม ศาสนา และการศึกษา รวม 6 คน ได้เสนอนายกรัฐมนตรีลงนามออกระเบียบการสรรหากรรมการที่เหลือโดยด่วน เพื่อเดินหน้าการออกประกาศฯ ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนาและช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ครม.ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ ซึ่งหลายฝ่ายออกมาให้ความคิดเห็น ทั้งสนับสนุนและคัดค้าน ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชน 10,000 คนทั่วประเทศ ในการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันสำคัญทางศาสนาและช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ ผลสำรวจเบื้องต้นในกลุ่มประชาชน 406 คน ในกทม.และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 17-22 ตุลาคม 2551 พบว่าร้อยละ 86 รับรู้การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันดังกล่าว ร้อยละ 83 เห็นด้วยกับพ.ร.บ.นี้ เพราะแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ โดยร้อยละ 71 เห็นว่าการห้ามขายในวันดังกล่าวจะเป็นผลดีมากกว่า ซึ่งวันที่เห็นว่าควรห้ามขายมากสุดได้แก่ วันเข้าพรรษา ร้อยละ 94 รองลงมาคือ วันวิสาขบูชา มาฆบูชาและอาสาฬหบูชา ร้อยละ 92 และวันเฉลิมพระชนมพรรษา ร้อยละ 90 ส่วนเทศกาลสำคัญทั้งปีใหม่และสงกรานต์ ประชาชนร้อยละ 51 เห็นว่าควรห้ามทุกวัน ร้อยละ 18 เห็นว่าควรห้ามเฉพาะวันแรกและวันสุดท้าย มีเพียงร้อยละ 17 ที่เห็นว่าไม่ควรห้าม เพราะเห็นว่าเป็นเทศกาลสนุกสนาน ควรมีการดื่มฉลอง ควรสร้างจิตสำนึกเพื่อให้ตระหนักจะดีกว่า ร.ต.อ.ดร.เฉลิม กล่าวต่อว่า การห้ามขายในวันสำคัญทางศาสนานั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย แต่ในเทศกาลที่เป็นสากล เช่น ปีใหม่ จะต้องหารือร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะมีผลกระทบหลายฝ่าย ส่วนวันสงกรานต์ แม้จะห้ามคนดื่มไม่ได้ แต่การห้ามขายจะทำให้ซื้อได้ยากขึ้น โดยเฉพาะเยาวชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสูงสุด จะช่วยลดปัญหานี้ได้ ทั้งนี้ มาตรการต่างๆ ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการนั้น เป็นมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกใช้กัน ซึ่งต้องใช้มาตรการหลายด้านร่วมกัน ทั้งการจำกัดสถานที่ เวลาจำหน่าย อายุผู้ซื้อ ควบคุมการโฆษณา การติดฉลากคำเตือน การรณรงค์ และการตรวจจับเมาแล้วขับ เป็นต้น ด้านนายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมการดื่มสุราของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 51.2 ล้านคน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยเก็บข้อมูลครัวเรือนตัวอย่าง 80,000 ครัวเรือน ระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2550 พบว่า มีผู้ที่ไม่เคยดื่มสุราร้อยละ 63 เคยดื่มแต่ปัจจุบันไม่ดื่มแล้ว ร้อยละ 7 และเป็นผู้ที่ดื่มสุราอยู่ 15.3 ล้านคน โดยวัยทำงานอายุ 25-59 ปี มีอัตราการดื่มสูงสุด ร้อยละ 34 รองลงมาเป็นกลุ่มเยาวชน อายุ 15-24 ปี ร้อยละ 22 โดยกลุ่มนี้เริ่มดื่มเมื่ออายุเฉลี่ยประมาณ 17 ปีเท่านั้น ซึ่งเหตุผลของผู้ที่ดื่มสุราส่วนใหญ่มักตอบว่า เพื่อการเข้าสังคม/การสังสรรค์ รองลงมาคือ อยากทดลองดื่ม และตามอย่างเพื่อน *****************************24 ตุลาคม 2551


   
   


View 11    24/10/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ