สาธารณสุขมอบยา 10,000 ชุด ให้หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาที่เข้าไปฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำท่วม นำไปแจกประชาชน เผยยอดผู้เจ็บป่วยรวมกว่า 100,000 คน ส่วนใหญ่เป็นน้ำกัดเท้า รองลงมาเป็นไข้หวัดใหญ่ และมีสถานบริการสาธารณสุขเสียหาย 50 แห่ง จาก 11 จังหวัด แต่ไม่กระทบต่อการให้บริการ วันนี้ (22 ตุลาคม 2551) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังมอบยาให้หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ที่จะลงไปดูแลพัฒนาพื้นที่หลังน้ำท่วม ว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมส่วนใหญ่คลี่คลายลงแล้ว แต่หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ ยังคงปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขัง และการฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อม ไม่ให้เป็นแหล่งรังโรค ควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาดในพื้นที่หลังน้ำลด ทั้งนี้ ในการฟื้นฟูพัฒนาพื้นที่หลังน้ำท่วม ซึ่งมีหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เป็นกำลังหลักในการดำเนินงาน ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ตนเป็นผู้แทนการสนับสนุนยาจำนวน 10,000 ชุดให้กับ พลเอกเสถียร เพิ่มทองอินทร์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการ กองทัพไทย ซึ่งจะส่งกำลังพลเข้าไปพัฒนาพื้นที่หลังน้ำท่วม เพื่อนำไปมอบให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบภัย สำหรับผลการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2551 - 21 ตุลาคม 2551 หน่วยแพทย์พระราชทานเคลื่อนที่ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ออกปฏิบัติการรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยทั้งหมด 1,203 ครั้ง มีผู้เจ็บป่วยรวม 100,117 ราย ทั้งหมดนี้เจ็บป่วยทั่วๆ ไป อาการไม่รุนแรง โรคที่พบมากที่สุดได้แก่ น้ำกัดเท้าจำนวน 31,817 ราย รองลงมาคือ ไข้หวัด 29,062 ราย ไม่มีรายงานโรคระบาดทุกพื้นที่ โดยมีผู้เสียชีวิตรวม 26 ราย ในส่วนของการสนับสนุนช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือน้ำท่วมของกระทรวงสาธารณสุขได้ สนับสนุนยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพิ่มเติมให้จังหวัดต่างๆ รวมทั้งสิ้น 597,750 ชุด ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า 57,500 ตลับ ยาพ่นตระไคร้หอมกันยุง 4,000 ขวด รวมทั้งเวชภัณฑ์อื่นๆ เช่น คลอรีน สารส้ม เพื่อใช้ปรับสภาพน้ำและฆ่าเชื้อในบ่อน้ำที่ถูกน้ำท่วม โซดาไฟสำหรับล้างตลาดสด รองเท้าบู้ทใส่ป้องกันโรคฉี่หนู ผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้ ทำให้สถานบริการสาธารณสุขได้รับความเสียหายทั้งหมด 50 แห่ง ใน 12 จังหวัด ประกอบด้วยลพบุรี 19 แห่ง ขอนแก่น 7 แห่ง พระนครศรีอยุธยา 6 แห่ง นครราชสีมา 5 แห่ง สระบุรี หนองบัวลำภู จังหวัดละ 3 แห่ง บุรีรัมย์ 2 แห่ง พิษณุโลก พิจิตร ปราจีนบุรี ชัยภูมิ และนครนายก จังหวัดละ 1 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นสถานีอนามัย อย่างไรก็ตามความเสียหายดังกล่าวไม่ส่งกระทบต่อการให้บริการประชาชนที่เจ็บป่วยแต่อย่างใด ตุลาคม ...................................... 22 ตุลาคม 2551


   
   


View 11    22/10/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ