กระทรวงสาธารณสุข เผยความคืบหน้าปลูกสมุนไพร “ชิงเฮา” หรือ “โกฐจุฬาลำพา” ในไทย เป็นสายพันธุ์ที่ให้สารสำคัญต้านเชื้อมาลาเรียสูง ลดการนำเข้าสารสกัดเพื่อผลิตยารักษาโรคมาลาเรียจากต่างประเทศ และพัฒนาระบบการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญ สะดวก เร็วกว่าเดิม 3 เท่า และถูกกว่าเดิม 6 เท่า เตรียมต่อยอดวิจัยขยายผลในระดับพาณิชย์ในปี 2550 นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้าการพัฒนาสมุนไพรเพื่อแปรรูปเป็นยารักษาโรค เพื่อลดการนำเข้า ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะใช้สมุนไพรชิงเฮา หรือชื่อไทยว่า โกฐจุฬาลำพา เพื่อผลิตเป็นยารักษาโรคมาลาเรีย ซึ่งยังเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของไทย ที่พบมากตามแนวชายแดนไทยพม่าและกัมพูชา โดยสมุนไพรชิงเฮา เป็นสมุนไพรที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน ชอบขึ้นในที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200-3,650 เมตร สมุนไพรดังกล่าวมีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียคือ อาร์เทมิซินิน ที่ผ่านมาได้มีผู้ทดลองนำมาปลูกในประเทศไทย พบว่าสามารถขึ้นได้ดีแต่มีปริมาณสารอาร์เทมิซินินต่ำมาก ไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนในเชิงพาณิชย์ ทำให้องค์การเภสัชกรรมต้องนำเข้าสารสกัดชิงเฮาซู่จากเวียดนาม ซึ่งราคาสารสกัดนี้มีแนวโน้มแพงขึ้นเรื่อยๆ นายแพทย์วิชัย กล่าวต่อว่า การที่ปริมาณสารสำคัญของโกฐจุฬาลำพาที่ปลูกในประเทศไทยต่ำนั้น อาจเนื่องมาจากคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ปลูก รวมทั้งไม่มีการวางแผนศึกษาวิจัยการปลูกให้ครบวงจร ในปี 2548 กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ จึงได้ศึกษาวิจัยคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมและมีปริมาณสารสำคัญสูง คุ้มค่าที่จะลงทุนในเชิงพาณิชย์ และศึกษาคุณภาพดิน คุณภาพน้ำ และปุ๋ยพร้อมๆ กัน และดำเนินการปลูกในแปลงทดลอง 4 แห่ง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 ได้แก่ สวนสมุนไพรกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.ระยอง ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตร จ.เชียงราย พื้นที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จ.พิษณุโลก และพื้นที่แปลงเกษตรกร จ.กาญจนบุรี ขณะนี้เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกได้แล้ว จากการตรวจวิเคราะห์สารอาร์เทมิซินินในผลผลิตรุ่นแรก พบว่ามีปริมาณสูง และไม่มีสารหนูหรือโลหะหนักอื่นปนเปื้อนแต่อย่างใด จึงเป็นข่าวดีของประเทศไทย ที่จะผลิตสมุนไพรใช้ในการรักษาโรคมาลาเรียได้เองในประเทศ สำหรับผลผลิตรุ่นที่ 2 ได้เก็บเกี่ยวในปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อเตรียมขยายผลเชิงพาณิชย์ในปี 2550 นายแพทย์วิชัย กล่าวอีกว่า นอกจากการพัฒนาตัววัตถุดิบสมุนไพรแล้ว ยังได้มีการพัฒนาวิธีตรวจวิเคราะห์ปริมาณสาระสำคัญชิงเฮาซู่ ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง จากเดิมที่ต้องใช้เวลาวิเคราะห์ตัวอย่างละ 230 นาที เสียค่าใช้จ่าย 525 บาท เหลือเพียงตัวอย่างละ 75 นาที และเสียค่าใช้จ่ายเพียง 85 บาทเท่านั้น ทั้งนี้จะนำผลการศึกษาที่ได้ไปขยายผลต่อยอดการวิจัยอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้ไทยสามารถผลิตวัตถุดิบสมุนไพรชิงเฮาที่มีคุณภาพ และเพียงพอต่อความต้องการในประเทศได้โดยเร็ว ทางด้านนายแพทย์ชวลิต สันติกิจรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า สมุนไพรชิงเฮา เป็นยารักษาโรคมาลาเรียที่มีประสิทธิผลในการฆ่าเชื้อมาลาเรียได้ผลดี ขณะนี้ประเทศไทยนำเข้าวัตถุดิบดังกล่าวในรูปสารสกัดจากเวียดนาม และจัดเป็นยาควบคุม ใช้ได้เฉพาะในสถานพยาบาล ไม่มีจำหน่ายในร้านขายยาทั่วไป เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา ******************************** 6 พฤศจิกายน 2549


   
   


View 7    06/11/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ