โฆษกสธ.ยืนยัน ไทยยังไม่มีไข้หวัดนกกลุ่ม “ ฟูเจียน-ไลค์” แนะอย่าประมาทหน้าหนาว โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันประเทศไทยยังไม่พบไข้หวัดนกกลุ่มใหม่ที่มีชื่อว่า ฟูเจียน ไลค์ ระบาดแต่อย่างใด เชื้อไข้หวัดนกที่พบในไทยยังคงเป็นสายพันธุ์เอช5 เอ็น 1 ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่พ.ศ. 2547 ขอให้ประชาชนวางใจได้ แต่อย่าประมาทในฤดูหนาว แนะให้ใช้มาตรการป้องกันการติดเชื้อจากสัตว์ปีก เข้มข้นคงเดิม จากกรณีที่มีข่าวจากสื่อมวลชนแจ้งเตือนการะบาดของไข้หวัดนกระลอกใหม่ จากเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นการวิจัยของคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2549 โดยกล่าวว่า จากการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 (H5N1) ในประเทศจีนตอนใต้ พบเชื้อไข้หวัดนกกลุ่มใหม่ (Sub-Lineage) ตั้งแต่ปลายพ.ศ. 2548 ให้ชื่อว่า ฟูเจียน-ไลค์ (Fujian - Like) โดยเชื้อไวรัสกลุ่มนี้ ได้เข้าแทนที่ไวรัสเชื้อไข้หวัดนกเอช 5 เอ็น 1 กลุ่มเดิมในจีน และกระจายมายังประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ลาว มาเลเซีย ไทยและเข้าสู่ฮ่องกงด้วยนั้น ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ข่าวดังกล่าวเป็นงานวิจัยที่เฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อโรคไข้หวัดนก ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในขณะนี้รวมทั้งประเทศไทย โดยการระบาดเป็นระลอกของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 ซึ่งมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานที่ชี้ว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดนกกลุ่มใหม่ที่ชื่อว่าฟูเจียน-ไลค์ จะมีความรุนแรง หรือมีความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อได้ดีกว่าเดิม นายแพทย์สุพรรณกล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทย หลังจากที่มีไข้หวัดนกระบาดในไทยตั้งพ.ศ. 2547 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานระดับโลก ได้ทำการเฝ้าระวังเชื้อไข้หวัดนกมาโดยตลอด ขอยืนยันว่าเชื้อไข้หวัดนกที่พบในคน ซึ่งรายงานยืนยันติดเชื้อและเสียชีวิต 3 รายล่าสุดในปี 2549 นี้ เป็นเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์เดิมคือเอช 5 เอ็น 1 ไม่ใช่กลุ่มใหม่ที่มีชื่อฟูเจียน-ไลค์แต่อย่างใด ขอให้ประชาชนไทยวางใจได้ กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาว อากาศเริ่มเย็นลง ซึ่งเอื้อต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเชื้อไข้หวัดนกที่สงบไปแล้วหลังพบผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตรายสุดท้ายเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2549 จนถึงวันนี้ แม้จะยังไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ก็ตาม แต่ประชาชนไทยก็ไม่ควรประมาท ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขและกรมปศุสัตว์อย่างเข้มข้น หากมีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ห้ามนำมาถอนขน หรือชำแหละเป็นอาหารอย่างเด็ดขาด ขอให้แจ้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่ หรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์โดยเร็ว เพื่อทำการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาด และทำลายซากสัตว์ปีกอย่างถูกวิธี นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันโรคไข้หวัดนก ขอให้ประชาชนล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะเด็กหลังสัมผัสสิ่งของ หรือหลังจากเข้าห้องน้ำห้องส้วมแล้ว ปฏิบัติให้ติดเป็นนิสัย ซึ่งการล้างมือจะขจัดเชื้อโรคได้ถึงร้อยละ 80 และให้รับประทานเนื้อไก่ เนื้อสัตว์ปีกอื่นๆรวมทั้งไข่ที่ปรุงสุกเท่านั้น เนื่องจากเชื้อโรคต่างๆที่อาจปนเปื้อนมา ไม่ว่าจะเป็นไวรัส แบคทีเรีย หรือพยาธิ จะถูกทำลายไปด้วยความร้อน พฤศจิกายน1/6 ********************************* 5 พฤศจิกายน 2549


   
   


View 7    05/11/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ