ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อเร่งลดความรุนแรง ด้วยการป้องกันและควบคุม ล่าสุดนี้โรคมะเร็งเป็น 1 ใน 3 ปัญหาสาธารณสุขระดับโลก มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้นาทีละกว่า 1 คน ป่วยเพิ่มปีละ 11 ล้านคน เหตุมาจากบุหรี่ อาหาร-ติดเชื้อไวรัส แบคที่เรีย ส่วนไทยพบมะเร็งเป็นเหตุเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 1 เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน
วันนี้ (3 พฤศจิกายน 2549) ที่โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพฯ นายแพทย์ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดประชุมวิชาการ การป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จัดโดยองค์กรป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APOCP) ระหว่างวันที่ 35 พฤศจิกายน 2549 มีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็งกว่า 300 คน จาก 26 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เข้าประชุม อาทิ ไทย เกาหลี สิงคโปร์ อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา เวียดนาม อินโดนีเชีย จีน สวิสเซอร์แลนด์ เป็นต้น รวมทั้งจากองค์กรต่อต้านโรคมะเร็งนานาชาติ (International Union Against Cancer : UICC) และองค์กรการวิจัยด้านโรคมะเร็งนานาชาติ (International Agency Research for Cancer : IARC) เพื่อร่วมกันควบคุมป้องกันโรคมะเร็ง ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลก
นายแพทย์ชาตรี กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาสาธารณสุขของโลก เป็นสาเหตุการตายติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก รองจากอุบัติเหตุ และโรคหัวใจ ในปี 2548 มีคนทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปีละ 7 ล้านคน และมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 11 ล้านคน องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 16 ล้านคนในปี 2563 และเพิ่มเป็น 24 ล้านคนในปี 2593 ในจำนวนนี้ประมาณร้อยละ 60 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา
จากการวิเคราะห์สาเหตุของโรคมะเร็ง พบว่ามีความแตกต่างกัน ในประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมีประชากร 1 ใน 5 ของโลก มีต้นเหตุสำคัญมาจากการสูบบุหรี่ การสัมผัสสารก่อมะเร็งระหว่างประกอบอาชีพ และการรับประทานอาหารที่มีเนื้อ ไขมันมาก กินผักผลไม้น้อย โรคมะเร็งที่พบบ่อย ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก
ส่วนโรคมะเร็งที่พบในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีประชากรมากถึง 2 ใน 5 ของโลก สาเหตุ 1 ใน 4 เกิดจากติดเชื้อโรคที่สำคัญ 3 ชนิด ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบชนิดบี (Hepatitis B) ทำให้เกิดโรคมะเร็งตับ ไวรัสฮิวแมน ปาปิโลมาไวรัส (Human Papilloma virus : HPV) หรือที่คนไทยรู้จักคือไวรัสหูดหงอนไก่ ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งกระเพาะอาหาร เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า เฮลิโคแบคเตอร์ พายโลรี่ (Helicobacter Pylori) ซึ่งเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้พบมากที่สุดในโลก มีคนติดเชื้อปีละ 3,000 ล้านคน เชื้อจะปนเปื้อนในอาหารและน้ำ และเข้าไปทำลายเยื่อบุและฝังตัวในกระเพาะอาหาร ทำให้เป็นมะเร็งในที่สุด
สำหรับประเทศไทย นายแพทย์ชาตรีกล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทยติดต่อกันมา 5 ปี มีผู้เสียชีวิตประมาณปีละ 50,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน และพบผู้ป่วยรายใหม่ได้ปีละประมาณ 70,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โรคมะเร็งที่พบมากที่สุด 6 อันดับแรกในปี 2547 ได้แก่ มะเร็งตับ 12,869 คน มะเร็งปอด 7,629 คน มะเร็งเต้านม 1,880 คน มะเร็งปากมดลูก 1,573 คน มะเร็งลำไส้ใหญ่ 1,474 คน และมะเร็งในช่องปาก 1,189 คน โดยมะเร็งที่ผู้ชายเป็นกันมากอันดับ 1 ได้แก่ มะเร็งตับ รองลงมาได้แก่ มะเร็งปอดและมะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่วนมะเร็งที่พบในผู้หญิงอันดับ 1 ได้แก่มะเร็งปากมดลูก รองลงมาได้แก่มะเร็งเต้านม และมะเร็งตับ โรคมะเร็งหากเป็นแล้วจะต้องใช้วิธีการในการรักษาที่ยุ่งยาก และมีโอกาสเสียชีวิตสูงหากพบในระยะลุกลามแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรทุก 1 แสนคน พบว่าคนกรุงเทพฯ เสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากที่สุด แสนละ 116 คน รองลงมาคือภาคอีสาน แสนละ 90 คน ภาคเหนือแสนละ 85 คน ภาคกลางแสนละ 72 คน และภาคใต้แสนละ 48 คน
นายแพทย์ชาตรี กล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาโรคมะเร็งที่ดีที่สุด คือการป้องกัน หลีกเลี่ยงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การกินอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง และการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง การออกกำลังกาย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มโครงการค้นหาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมในผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป เมื่อพ.ศ. 2548 ด้วยการป้ายเซลล์ที่ปากมดลูกไปตรวจความผิดปกติ ทุก 5 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้มีผู้มารับบริการตรวจมะเร็งปากมดลูกเพียงร้อยละ 10 หลังดำเนินโครงการ สามารถเพิ่มเป็นร้อยละ 50 ในปี 2549 และตั้งเป้าหมายตรวจให้ได้ร้อยละ 80 ในปี 2553 ซึ่งจะช่วยลดอัตราการตายจากมะเร็งปากมดลูกได้ถึงร้อยละ 50 และโครงการให้วัคซีนตับอักเสบบีในวัยเด็ก ตั้งแต่แรกเกิด เพื่อป้องกันโรคมะเร็งตับ
ทางด้านนายแพทย์ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการสถาบันโรคมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังมีการวิจัยความรู้ด้านโรคมะเร็งน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นการวิจัยในประเทศแถบยุโรปและอเมริกาซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้ว จึงจำเป็นต้องเร่งสนับสนุนให้มีการวิจัย เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาการดำเนินงานด้านโรคมะเร็งในภูมิภาคนี้ให้มากขึ้น ในการประชุมครั้งนี้จะมีหารือเรื่องระบบการทำทะเบียนมะเร็ง การติดตามความก้าวหน้าการวิจัยค้นหาสาเหตุ การป้องกันโรคมะเร็ง การสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยและความร่วมมือด้านวิชาการเชิงนโยบาย รวมทั้ง การจัดตั้งสำนักงานองค์กรต่อต้านโรคมะเร็งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกขึ้นในประเทศไทยด้วย เพื่อเป็นแกนประสานงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยเฉพาะ
อย่างไรก็ดี ปัญหาของผู้ป่วยมะเร็งที่พบคล้ายคลึงกันทั่วโลก พบว่าร้อยละ 80 ที่ไปพบแพทย์ อยู่ระยะลุกลามไปที่อวัยวะอื่นแล้ว ทำให้อัตราการรักษาหายขาดมีน้อยมาก และมีอายุอยู่ได้สั้นประมาณ 6-12 เดือน จึงมีการจัดตั้งศูนย์ควบคุมและดูแลรักษาแบบประคับประคองด้านความเจ็บปวด เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีที่สุด ลดความทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวดให้มากที่สุด ให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะนี้ตั้งอยู่ที่สถาบันโรคมะเร็งแห่งชาติ โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย และศูนย์มะเร็งภูมิภาค ทั้ง 7 แห่ง นายแพทย์ธีรวุฒิ กล่าว
**************************** 3 พฤศจิกายน 2549
View 15
03/11/2549
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ