ปลัด สธ. สั่งตั้งศูนย์ EOC รับมือ "อหิวาต์" พร้อมให้การสนับสนุนทีมช่วย "เมียนมา" ควบคุมป้องกันโรค เข้มเฝ้าระวังจุดเสี่ยงในไทย
- สำนักสารนิเทศ
- 159 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ติดตามการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ เตรียมพร้อมส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ลดอาการรุนแรงและเสียชีวิต สร้างความเชื่อมั่นระบบบริการสาธารณสุขรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวและประชาชน พร้อมมอบนโยบาย อสม. เฝ้าระวังและป้องกันภัยสุขภาพ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่ เป็นผู้นำทางสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย และร่วมคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ รวมทั้งเชิญชวนประชาชนฉีดวัคซีนโควิดให้ครบ 4 เข็ม
วันนี้ (3 มีนาคม 2566) ที่ รพ.ตราด จ.ตราด ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ พะเนียงทอง ที่ปรึกษาฯ นายธีระ สลักเพชร อดีต รมว.วธ และ ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ติดตามการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศและการสร้างเสริมสุขภาพในกลุ่ม อสม. เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่ จ.ตราด โดยมี นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด นพ.ธนะวัฒน์ วงศ์ผัน นพ.สสจ.ตราด นพ.วิทยา สุริโย รอง ผอ.ฝ่ายการแพทย์ รพ.ตราด และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ให้การต้อนรับ และกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายจัดระบบสาธารณสุขทางทะเลและเกาะ ในการดูแลประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน รวมทั้งพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ (Sky doctor) เพื่อลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ภูเขา ทะเล และเกาะ ให้ได้รับการรักษาพยาบาลและส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่าได้อย่างรวดเร็ว ทันเวลา ช่วยลดอาการรุนแรงและป้องกันการเสียชีวิต เพราะ “ทุกชีวิตมีค่าเท่ากัน”
ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า จ.ตราด มีการพัฒนาทั้งบริการการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ ทางน้ำ และแพทย์อาสา มาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวเป็นพื้นที่เกาะ โดยเฉพาะเกาะช้าง เกาะกูด และเกาะหมาก ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนมาก การส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินต้องใช้เวลานาน ระบบ Sky Doctor จึงมีความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็ว อีกทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพด้านการแพทย์ให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่ง จ.ตราด ได้พัฒนาศักยภาพการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ของ รพ.สต.เกาะหมาก โดยมีแพทย์อาสาทั้งจากจังหวัดตราด จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 6 รวมถึงแพทย์ที่สนใจจากทั่วประเทศ หมุนเวียนมาปฏิบัติงาน
สำหรับการส่งต่อผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน ดำเนินการครอบคลุมทั้งทางอากาศและทางน้ำ โดยทางอากาศได้เตรียมพร้อมจุดจอดเฮลิคอปเตอร์ 10 จุด ได้แก่ เกาะช้าง 2 จุด เกาะหมาก 2 จุด เกาะกูด 1 จุด และ อ.เมือง อ.คลองใหญ่ อ.แหลมงอบ อ.เขาสมิง และ อ.บ่อไร่ อำเภอละ 1 จุด พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพบุคลากรของ รพ.ทุกแห่งในจังหวัด มีผู้ผ่านการอบรมการลำเลียงทางอากาศ 23 คน และผ่านการอบรมเตรียมพื้นที่จอดเฮลิคอปเตอร์ 30 คน เตรียมขึ้นทะเบียนหน่วยปฏิบัติการบินร่วมกับ รพ.พระปกเกล้าจันทบุรี ขณะที่การลำเลียงทางน้ำ ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ทั้งเรือเฟอร์รี่ เรือเร็วเอกชน เรือ Hydrolance รพ.กรุงเทพตราด เรือภาครัฐ มชด./1 เรือภาครัฐ ศร.ทร.เกาะช้าง เรือภาครัฐ อุทยานฯ เกาะช้าง เรือภาครัฐ เจ้าท่า จ.ตราด และเรือศรชล จ.ตราด ซึ่งปัจจุบันมีเรือ
ขึ้นทะเบียนในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จ.ตราด จำนวน 43 ลำ ขึ้นทะเบียน สพฉ.19 ลำ มีบุคลากรผ่านการลำเลียงทางน้ำ ได้แก่ การกู้ชีพทางน้ำ (MALS) 45 คน และระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางทะเล (MEMS) 7 คน โดยมีการออกปฏิบัติการลำเลียงผู้ป่วยทางน้ำเฉลี่ย 130 ครั้ง/ปี
จากนั้น รมช.สธ. และคณะ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมเสริมพลัง อสม.จังหวัดตราด จำนวนกว่า 1,000 คน ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด และมอบนโยบายในการปฏิบัติงาน การเฝ้าระวังและป้องกันภัยสุขภาพ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่ จ.ตราด โดยขอให้ อสม.ปฏิบัติหน้าที่เป็นจิตอาสาด้วยความภาคภูมิใจ เป็นผู้นำทางสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย และร่วมคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ รวมทั้งช่วยกันเชิญชวนประชาชนฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ให้ครบ 4 เข็ม โดยกระทรวงฯ พร้อมสนับสนุนและดูแลสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ อาทิ ค่าป่วยการในการปฏิบัติหน้าที่ การจัดฌาปนกิจสงเคราะห์ให้กับ อสม.และคู่สมรส เพื่อเป็นหลักประกันให้กับครอบครัวหากมีการเสียชีวิต เป็นต้น
*********************************************** 3 มีนาคม 2566