กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด นำร่อง “หนองบัวลำภูต้นแบบจังหวัดสีขาว” บูรณาการความร่วมมือตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม แล้ว 75 แห่ง เปิดศูนย์คัดกรองในโรงพยาบาลทุกแห่งและศูนย์แพทย์ชุมชนอีก 6 แห่ง พร้อมยก อสม.เป็นกำลังร่วมเฝ้าระวัง แก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน

          วันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2566) ที่ ต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ อธิบดีกรมการปกครอง ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด จ.หนองบัวลำภู ระยะเร่งด่วน (3 เดือน)

           นพ.โอภาส กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดวาระเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการบำบัด รักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ได้สั่งการให้หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงาน 7 เรื่อง ได้แก่ 1.สำรวจและขึ้นทะเบียนศูนย์คัดกรองให้ครอบคลุมทุกตำบล 2.สนับสนุนและร่วมบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่เพื่อบำบัดรักษา ฟื้นฟูและติดตามผู้ป่วยยาเสพติด โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน (CBTx) 3.สำรวจ ตรวจสอบและยื่นขึ้นทะเบียนศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม 4.จัดตั้งหอผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 5.จัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชน 6.สนับสนุนการดำเนินงานของสถานฟื้นฟูภาคีเครือข่ายในจังหวัด ในการฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดระยะยาว 7.ลงทะเบียนบุคคลผู้ใช้งานระบบข้อมูล บสต. ทั้งในและนอกกระทรวงฯ โดยดำเนินการผ่านกลไกคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ซึ่งขณะนี้สามารถจัดตั้งศูนย์คัดกรองในตำบลแล้ว 9,473 แห่ง มีสถานพยาบาลยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (CBTx) 1,079 แห่ง ครอบคลุม 659 ชุมชน มีศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมในชุมชนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว 1,185 แห่ง และเปิดหอผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปครอบคลุมทุกจังหวัดแล้ว

            นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ในส่วนโครงการนำร่อง “หนองบัวลำภูต้นแบบจังหวัดสีขาว” สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย โดยเปิดศูนย์คัดกรองในโรงพยาบาลครบทั้ง 6 แห่ง ศูนย์แพทย์ชุมชน 6 แห่ง และทุก อปท. รวมทั้งสิ้น 95 แห่ง มีศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมครอบคลุมทั้งในระดับจังหวัด/อำเภอ/อปท. รวม 75 แห่ง มีการเปิดหอผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดที่โรงพยาบาลหนองบัวลำภูและจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด ในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง และได้เข้าคัดกรองผู้เสพยาเสพติดอย่างละเอียดในหมู่บ้านต้นแบบ 67 หมู่บ้าน พบผู้ติดยาเสพติด 701 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการตามกระบวนการบำบัด รักษา และฟื้นฟู นอกจากนี้ ยังมีแผนการดำเนินงานยาเสพติดสุขภาพจิตและการดูแลผู้ป่วยจิตเวชสารเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ระดับจังหวัด โดยมีอสม. ผู้นำชุมชน ตำรวจ เป็นต้น ร่วมเป็นฝ่ายสนับสนุน ซึ่งหลังจากนี้จะมีการถอดบทเรียนที่เป็นประโยชน์เพื่อนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

                “นอกจากการบูรณาการการบำบัด รักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดอย่างเป็นระบบ อีกส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง คือ บุคลากรผู้ทำหน้าที่บำบัดรักษา คณะรัฐมนตรีจึงมีมติอนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุขผลิตจิตแพทย์เพิ่ม 800 คน และพยาบาลวิชาชีพอีกกว่า 3,000  คน นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยังได้มอบนโยบายให้ อสม. ซึ่งเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับคนในชุมชน ช่วยสอดส่องดูแล เฝ้าระวังยาเสพติดทุกชนิด และร่วมติดตามผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด เน้นช่วยเหลือด้านสุขภาพภายหลังการหยุดใช้ยาเสพติด เพื่อป้องกันไม่ให้กลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก” นพ.โอภาสกล่าว

 ****************************************** 7 กุมภาพันธ์ 2566

 



   
   


View 1416    07/02/2566   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ