สาธารณสุข จัดประชุมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนก ผู้ทรงริเริ่มการต่อต้านวัณโรคในประเทศไทย เผยไทยมีผู้ป่วยรายใหม่กว่า 90,000 ราย แต่เข้ารับการรักษาเพียงร้อยละ 60 ประกาศนโยบายปี 2552 ตั้งเป้าให้การรักษาครบสูตร 6 เดือนให้ได้ร้อยละ 90 มีผู้ป่วยขาดยาไม่เกินร้อยละ 4 ระดมพลัง อสม. ทั่วประเทศเร่งค้นหาผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยง เพื่อนำเข้าสู่ระบบการรักษาฟรี วันนี้ (19 กันยายน 2551) ที่โรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาทางวิชาการแก่ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาล องค์กรสุขภาพ สมาชิกสมาคมนักบริหารแห่งประเทศไทย สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย นักวิชาการและผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 350 คน เรื่อง “การพัฒนาคุณภาพด้านบริหารจัดการเพื่อควบคุมวัณโรคแบบบูรณาการ” เทิดพระเกียรติสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย เนื่องในวันมหิดล เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ทรงเป็นผู้ริเริ่มการต่อต้านวัณโรคในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2463 และกระตุ้นให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ร่วมมือ เร่งรัดในการควบคุมวัณโรค นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า ในปี 2551 องค์การอนามัยโลกรายงานทั่วโลกมีผู้ป่วยวัณโรค 18 ล้านราย โดยร้อยละ 50 ของผู้ป่วยทั้งหมดอยู่ในระยะแพร่เชื้อ เสียชีวิตปีละ 1 ล้าน 9 แสนราย และมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น ปีละ 8 ล้าน 8 แสนคน ร้อยละ 95 ของผู้ป่วยทั้งหมดอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา สำหรับไทยถูกจัดเป็นประเทศวัณโรคชุกสูงในอันดับที่ 18 จาก 22 ประเทศทั่วโลก คาดแต่ละปีมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 90,000 ราย ในจำนวนนี้ 40,000 ราย อยู่ในระยะแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้ ทั้งนี้ในปี 2550 มีรายงานผู้ป่วยเข้ารับการรักษาทั่วประเทศ 57,236 ราย หรือประมาณร้อยละ 60 ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อ 28,487 ราย และพบผู้ป่วยกลับเป็นซ้ำเกือบ 2,000 ราย นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า วัณโรคที่พบในไทยมากที่สุดร้อยละ 90 คือ วัณโรคปอด ปัญหาหลักที่ทำให้วัณโรคในไทยแพร่ระบาดขณะนี้คือ มีผู้ป่วยวัณโรคที่ยังไม่ได้รับการรักษาและอยู่ในชุมชนต่างๆ อีกร้อยละ 40 หรือกว่า 30,000 ราย ซึ่งอาจจะยังไม่เข้าสู่การรักษา คนกลุ่มนี้สามารถแพร่เชื้อทางการไอ จาม ขยายวงกว้างออกไปได้คนละ 10-20 รายต่อปี นอกจากนี้ มีผู้ป่วยวัณโรคกินยาครบสูตร 6 เดือน รักษาหายเพียงร้อยละ 79 ต่ำกว่ามาตรฐานที่ตั้งไว้คือ ร้อยละ 85 ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยขาดยา 2 เดือนขึ้นไป ร้อยละ 5 อาจทำให้เกิดอาการดื้อยา จนรักษาด้วยยาตัวเดิมไม่ได้ ต้องเพิ่มยาให้แรงขึ้นหรือใช้ยาตัวใหม่ ใช้เวลารักษานานขึ้น ซึ่งหากยังขาดยาเหมือนเดิมอีกเชื้อจะดื้อยาทุกชนิด รักษาไม่ได้ อัตราตายสูงถึงร้อยละ 85 การแก้ไขปัญหานี้ ในปี 2552 กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ทุกจังหวัดรณรงค์ค้นหาผู้ป่วยวัณโรค ให้การรักษาให้หายขาด ตั้งเป้ารักษาผู้ป่วยวัณโรคครบหลักสูตรให้ได้ร้อยละ 90 และต้องมีผู้ป่วยขาดยา 2 เดือนขึ้นไป ลดลงเหลือไม่เกินร้อยละ 4 โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เร่งค้นหาผู้ป่วยวัณโรคเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ผู้ป่วยเอดส์ คนสูงอายุ แรงงานย้ายถิ่นในประเทศ และแรงงานต่างด้าว เป็นต้น เพื่อนำเข้าสู่ระบบการรักษาฟรี หากเป็นผู้ป่วยระยะแพร่เชื้อ ให้รับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ก่อนส่งกลับไปรักษาต่อที่บ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. ญาติผู้ป่วย ร่วมดูแลอย่างใกล้ชิด และภายใน 5 ปี ประเทศไทยจะหลุดจากพื้นที่ที่มีผู้ป่วยวัณโรคชุกขององค์การอนามัยโลก กันยายน ************************************19 กันยายน 2551


   
   


View 15    19/09/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ