ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ โรงพยาบาลราชบุรี โรงพยาบาลวัดเพลง จังหวัดราชบุรี และ โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า จังหวัดสมุทรสงคราม ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญกระทรวงสาธารณสุข พบทุกแห่งมีการพัฒนาทุกด้าน พร้อมย้ำการขับเคลื่อนงานจิตเวชและยาเสพติด รองรับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

    วันนี้ (6 ธันวาคม 2565) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ โรงพยาบาลราชบุรี โรงพยาบาลวัดเพลง จังหวัดราชบุรี และ โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญ 6 ข้อ ของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ 1.เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสาร ยกระดับการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพทุกมิติ 2.ยกระดับบริการรองรับสังคมสูงวัยและลดอัตราตายโรคสำคัญ 3.ผลักดันบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขสู่ยุคดิจิทัล 4.ยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพ เตรียมพร้อมรับภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข 5.ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพนานาชาติ และ 6.พัฒนาสู่องค์กรสมรรถนะสูงและบุคลากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความสมดุลการใช้ชีวิตและการทำงาน ซึ่งพบว่าทุกโรงพยาบาลมีการปรับปรุงพัฒนาตามบริบทของแต่ละพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
      โดยโรงพยาบาลราชบุรีได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพระหว่างหน่วยบริการ ทั้ง 989 แห่ง (67 โรงพยาบาล 922 รพ.สต.)ในเขตสุขภาพที่ 5 รองรับ 30 บาทรักษาทุกที่ ส่งต่อรักษาและบริหารจัดการทรัพยากรในเขตสุขภาพร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ, ขยายบริการหน่วยปฏิบัติการสวนหัวใจ ให้รับส่งต่อจากโรงพยาบาลต่างๆ ในกรณีฉุกเฉินได้มากขึ้น และลดระยะเวลารอคอยเป็นศูนย์, นำร่องโครงการบริหารยาเคมีบําบัดทางหลอดเลือดที่บ้าน (Home chemotherapy) ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ ช่วยลดวันนอนโรงพยาบาล ส่งเสริมให้ผู้ป่วยและญาติใช้ชีวิตประจำวันใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด และเตรียมเพิ่มเครื่องฉายแสงเป็น 4 เครื่อง ให้บริการนอกเวลาราชการถึง 24.00 น.

          สำหรับโรงพยาบาลวัดเพลง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง มีการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พลังงาน โดยลดการใช้พลังงานในกระบวนการทำงาน อาทิ ลดวลาเติมอากาศในระบบบำบัดน้ำเสีย จาก 12 ชั่วโมง เป็น 8 ชั่วโมงต่อวัน ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ 5,110 กิโลวัตต์ต่อปี คิดเป็นเงิน 21,462 บาท, ปรับชั่วโมงการทำงานของหน่วยซักฟอก หลีกเลี่ยงช่วงเวลาค่าไฟฟ้าสูง และแยกผ้าชนิดบางมาตากแทนการอบแห้ง ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า 3,200 กิโลวัตต์ต่อปี คิดเป็นเงิน 13,440 บาท นอกจากนี้ยังติดตั้งโซล่าเซลล์ขนาด 17 กิโลวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้รวม 128.6 เมกกะวัตต์ เป็นเงิน 54,000 บาท ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าได้ถึงร้อยละ 17 ส่วนโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในระบบบริการ เช่น การตรวจรักษาและให้คำปรึกษาทางไกล สำหรับผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในเรือนจำ (Telepsychiatry) ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการมากขึ้น, บริการส่งยาด่วนถึงบ้าน (Telepharmacy) ในผู้ป่วยนอกอายุกรรม ศัลยกรรม ศัลกรรมกระดูก จักษุ หูคอจมูก  จิตเวช และติดตามโดย Application

          นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ในการทำงานขอให้ยึดหลัก 4 T ได้แก่ 1) Trust ผู้บริหารต้องสร้างความเชื่อมั่นแก่บุคลากร และที่สำคัญสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการรับบริการ 2) Teamwork &Talent มีการทำงานร่วมกันเป็นทีม และส่งเสริมศักยภาพคนทำงานทุกระดับ 3)Technology นำเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบบริการ ระบบข้อมูลสุขภาพให้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ง่าย และ 4) Targets ทำงานแบบมุ่งเป้าหมาย บริหารจัดการทรัพยากรที่มีอย่างมีประสิทธิภาพ และทำโรงพยาบาลให้เป็นโรงพยาบาลของประชาชน นอกจากนี้ ขอให้ทุกโรงพยาบาลขับเคลื่อนงานดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด เพื่อรองรับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งผลิตจิตแพทย์เพิ่มให้ได้ 400 คน ภายใน 5 ปี และอบรมพยาบาลจิตเวชเพื่อเติมระบบบริการให้เพียงพอต่อไป

******************************** 6 ธันวาคม 2565



   
   


View 953    06/12/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ