รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เห็นชอบ 4 เรื่อง จัดกิจกรรมวันงดดื่มสุราแห่งชาติปี 2565, ข้อเสนอเชิงนโยบายให้ขายเหล้าอย่างรับผิดชอบ, แนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติระยะที่ 2 และมีข้อห่วงใยต่อร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า อาจทำให้ประชาชนดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น ให้พิจารณาผลกระทบรอบด้านและจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุม

         วันนี้ (4 กรกฎาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครั้งที่ 2/2565 โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดย ดร.สาธิตกล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 4 เรื่องหลัก คือ 1.การจัดกิจกรรมวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ปี 2565 โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงโปรดให้หม่อมหลวงสราลี กิติยากร เป็นผู้แทนพระองค์ในการเป็นประธานเปิดงานในวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน โดยในปีนี้มีโครงการเชิญ ชวน เชียร์ ลด ละ เลิกเหล้า และเข้าสู่ระบบบำบัดรักษาผ่านคิวอาร์โคดหรือ http://stopdrink.com/kaopansa65/ ซึ่งภายหลังการจัดงานจะมีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านระดับจังหวัดที่ชวนประชาชนลงนามผ่านระบบออนไลน์มากที่สุด 10 รางวัล

        ดร.สาธิตกล่าวว่า 2.เห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบาย เรื่องการสนับสนุนให้ผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีการขายอย่างรับผิดชอบ โดยมอบคณะอนุกรรมการร่างและแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย พิจารณาการออกกฎหมายในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องต่อไป 3.แนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565-2570) ลงสู่พื้นที่ มอบคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดและกรุงเทพมหานคร จัดทำแผนและรายงานผลให้ทราบทุก 6 เดือน ซึ่งขณะนี้แผนปฏิบัติการฯ อยู่ในขั้นตอนเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ และ 4.คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีข้อห่วงใยต่อร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่...) พ.ศ. ... หรือร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่มีสาระสำคัญคือเปิดให้รายย่อยสามารถผลิตและจำหน่ายสุรา โดยลดเงื่อนไขการขออนุญาตผลิต และให้สามารถผลิตสุราเพื่อบริโภคได้เองโดยไม่ต้องขออนุญาต ว่า คณะกรรมการฯ มีความห่วงใยต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ให้ศึกษาผลกระทบให้ครอบคลุมรอบด้าน เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะผู้ผลิตรายย่อยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งผู้ผลิตเพื่อบริโภคเองภายในครัวเรือน จะทำอย่างไรเพื่อลดปัญหาหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบายสุราก้าวหน้า (เสรี) ซึ่งควรต้องมีนโยบายหรือมาตรการที่เหมาะสมมารองรับ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าธรรมดา จำเป็นต้องมีการควบคุม เช่น จะทำอย่างไรให้มีมาตรการควบคุมคุณภาพการผลิตเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนให้ได้มาตรฐาน,ให้ความหนาแน่นของจำนวนใบอนุญาตไม่ให้มากจนเกินไป, การพัฒนาหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตฯ ให้มีเงื่อนไขและราคาที่มิให้ออกโดยง่ายจนเกินไป ควบคุมจำนวนใบอนุญาต และผลกระทบที่จะเกิดกับเด็กและเยาวชน

             การยกระดับความรับผิดชอบของผู้ขาย โดยเฉพาะร้านที่ขายแบบนั่งดื่ม (ร้านเหล้า ผับบาร์) ควรต้องมีเงื่อนไขการได้ใบอนุญาต เช่น ผ่านการอบรมเรื่องจริยธรรม สำนึกความรับผิดชอบของผู้ขาย และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และยกเลิกใบอนุญาตได้ เมื่อกระทำผิดหลักเกณฑ์, การพัฒนามาตรการเยียวยาเพื่อลดปัญหาหรือผลกระทบ โดยเฉพาะการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการเลิกเหล้า ช่วยเหลือบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสุรา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งนำรายได้หรือภาษีจากสุรามาใช้ เพื่อสร้างสมดุลทางนโยบาย และการพัฒนาปรับปรุงให้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับบุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคม โดยจะมีการเสนอข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญต่อไป

 ************************************** 4 กรกฎาคม 2565

************************************

 



   
   


View 1150    04/07/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ