กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการศึกษาบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ พบมีสารนิโคตินสูงกว่าบุหรี่ธรรมดากว่า 10 เท่า ซึ่งสารนิโคตินมีฤทธิ์เสพติดเทียบเท่าเฮโรอีนและโคเคน เตรียมใช้กฎหมาย 3 ฉบับสกัดกั้นนำเข้า และประสานกรมศุลกากรห้ามนำเข้าไทยโดยเด็ดขาด ผู้ฝ่าฝืนมีความผิดโทษทั้งจำคุกและปรับ เพื่อป้องกันเด็ก เยาวชนผู้ติดบุหรี่ สูบมากขึ้น เนื่องจากเข้าใจผิดว่าปลอดภัยต่อสุขภาพ
นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากกรณีที่มีบริษัทบุหรี่ผลิตบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีแท่งบรรจุนิโคตินและสารเคมีโพรไพลีนไกลคอลเป็นส่วนประกอบ ไม่มีใบยาสูบเป็นส่วนผสม โดยกล่าวอ้างว่าปลอดภัยต่อสุขภาพ ใช้ทดแทนบุหรี่ธรรมดาได้ ไม่ทำให้เกิดควันบุหรี่มือสองและไม่มีกลิ่นติดเสื้อผ้า บุหรี่ดังกล่าวขณะนี้ได้แพร่หลายไปทั่วโลกแล้ว สำหรับประเทศไทยมีความพยายามเตรียมนำเข้ามาจำหน่ายเช่นกัน กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มอบให้กรมควบคุมโรคและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ศึกษารายละเอียดของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อเร่งหามาตรการ ข้อกฎหมาย สกัดกั้นการนำเข้าประเทศโดยเร็ว เพื่อเป็นการป้องกันการเข้าใจผิด และป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในอนาคต โดยเฉพาะเยาวชน
นายวิชาญ กล่าวต่อว่า จากการศึกษาพบว่า บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ จัดเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทนิโคตินทดแทน แม้จะไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีควัน รวมทั้งสารก่อมะเร็งจากการเผาไหม้ แต่ที่น่าสนใจคือมีสารนิโคตินสูงกว่าบุหรี่ธรรมดากว่า 10 เท่าตัว ซึ่งสารนิโคตินเป็นสารที่ทำให้เสพติด มีพิษร้ายแรงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด องค์การอนามัยโลกได้จัดให้เป็นสารมีฤทธิ์เสพติดเทียบเท่าเฮโรอีนและโคเคน บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ 1 มวน จะบรรจุนิโคติน 18 มิลลิกรัม ขณะที่บุหรี่ธรรมดามีเพียง 1.2 มิลลิกรัม ซึ่งผู้สูบจะไม่รู้ว่าในการสูบแต่ละครั้งหรือแต่ละวันร่างกายได้รับนิโคตินเข้าไปเท่าไหร่ ไม่สามารถควบคุมปริมาณได้เหมือนแผ่นแปะหรือหมากฝรั่งที่ใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์
ผลการหารือร่วมระหว่างกรมควบคุมโรคกับอย. ได้ข้อสรุปว่า ไม่ควรอนุญาตให้นำบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในประเทศไทย ในเบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขถือว่ามีความผิดในฐานะที่เป็นสินค้าเลียนแบบบุหรี่ นอกจากนี้ จะกำหนดให้ผลิตภัณฑ์นี้เป็นยาใหม่ การนำเข้าต้องขออนุญาต มีการควบคุมอย่างเคร่งครัด โดยจะนำกฎหมายที่มีอยู่ 3 ฉบับมาควบคุม ได้แก่ 1.พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 มาตรา 10 ที่ห้ามผลิต ห้ามนำเข้าเพื่อขายหรือเพื่อจ่ายแจกทั่วไป หรือโฆษณาสินค้าอื่นใดที่มีรูปลักษณะที่ให้เข้าใจว่าเป็นสิ่งเลียนแบบผลิตภัณฑ์ยาสูบ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษ ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท
2.พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขาย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาแผนปัจจุบัน ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท มาตรา 72 ห้ามผลิต ขายหรือนำเข้ายาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 5 พันบาท และมาตรา 88 ว่าด้วยการโฆษณาขายยา ไม่โอ้อวดสรรพคุณว่าสามารถบำบัดบรรเทา รักษาหรือป้องกันความเจ็บป่วยได้อย่างศักดิ์สิทธิ์หรือหายขาด ฝ่าฝืนมีโทษ ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และมาตรา 88 ทวิ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท
3.พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ผู้นำเข้าหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือของต้องห้าม หรือยังมีได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาของซึ่งรวมค่าอากร หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ เพื่อป้องกันเด็ก เยาวชน และผู้ที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว สูบบุหรี่มากขึ้น เนื่องจากเข้าใจว่าปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะหารือกับกรมศุลกากร เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้นำบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ เข้ามาในประเทศไทยโดยเด็ดขาด
ทางด้านนายแพทย์เสรี หงษ์หยก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ (E-Cigarette) ผลิตคิดค้นในประเทศจีน ลักษณะรูปร่างผลิตภัณฑ์และวิธีสูบเช่นเดียวกับบุหรี่ธรรมดา ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ลิเธียมทำงานแทนการจุดไฟ ส่วนประกอบของบุหรี่ ไม่มีใบยาสูบเป็นส่วนผสม มีแต่แท่งนิโคติน (nicotine cartridge) ภายในบรรจุสารนิโคตินและสารเคมีโพรไพลีนไกลคอล ในรูปแบบของเหลว เมื่อเกิดความร้อน จะแตกตัวเป็นละอองฝอย และเข้าสู่ปอดภายใน 7-10 วินาที สารโพไพลีนไกลคอลจะทำให้เกิดละอองหมอกดูคล้ายควันบุหรี่ ความร้อนที่ปลายบุหรี่จะใกล้เคียงกับบุหรี่ธรรมดาคือประมาณ 50-60 องศาเซลเซียส แท่งนิโคตินสามารถถอดเปลี่ยนได้ โดยเลือกความเข้มข้นของนิโคตินได้ถึง 18 มิลลิกรัม และสามารถเติมสารชูรสและกลิ่นผสมได้ เช่น สารสังเคราะห์จากผลไม้ สมุนไพร หรือสารอื่นๆ บุหรี่ดังกล่าวนี้ หากมีการนำเข้ามาในประเทศไทย จะเกิดผลกระทบอาจทำให้เด็ก เยาวชนและประชาชนสูบบุหรี่มากขึ้น ผู้ที่เลิกสูบได้แล้วจะกลับมาสูบซ้ำอีกได้ จึงเป็นการส่งเสริมให้ติดบุหรี่ต่อไป
********************************************* 5 สิงหาคม 2551
View 43
05/08/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ